TNN ปลูก "กัญชง" ไม่ยุ่งยาก เผยขั้นตอนขออนุญาต ใครมีสิทธิ์ปลูกได้บ้าง

TNN

สังคม

ปลูก "กัญชง" ไม่ยุ่งยาก เผยขั้นตอนขออนุญาต ใครมีสิทธิ์ปลูกได้บ้าง

ปลูก กัญชง ไม่ยุ่งยาก เผยขั้นตอนขออนุญาต ใครมีสิทธิ์ปลูกได้บ้าง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยัน การขออนุญาตปลูกกัญชงไม่ยุ่งยาก โดยเฉพาะเกษตรกร ประชาชน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ โดยยื่นคำขอ ณ จังหวัดที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงให้ยื่นคำขอที่ อย.

วันนี้ (13 มี.ค.64) เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่า การขออนุญาตปลูกกัญชงมีความยุ่งยากและล่าช้านั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอยืนยันว่า การขออนุญาตปลูกกัญชงไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกร ประชาชน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ โดยยื่นคำขอ ณ จังหวัดที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงให้ยื่นคำขอที่ อย.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายเพิ่งอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชงได้ตั้งแต่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ผู้ยื่นคำขอในขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของเอกสารและสถานที่ปลูก ซึ่ง อย. และ สสจ. พร้อมให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน และเมื่อยื่นคำขอแล้ว อย. และ สสจ. จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตสามารถปลูกกัญชงป้อนสู่ตลาดได้ทันตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม


ใครที่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้บ้าง?

1.เกษตรกร

2.วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์

3.ประชาชนทั่วไป

4.นิติบุคคลสัญชาติไทย

5.หน่วยงานรัฐ-เอกชน


ปลูก กัญชง ไม่ยุ่งยาก เผยขั้นตอนขออนุญาต ใครมีสิทธิ์ปลูกได้บ้าง


ขั้นตอนการขออนุญาตปลูก “กัญชง”

กรณีผู้ขอนำเข้า (เมล็ดพันธ์ุกัญชง) เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่

- แบบคำขอรับอนุญาต (แบบกัญชง 3)

- แผนการนำเข้า แผนการใช้ประโยชน์

- ใบรับรองของผู้ผลิตในต่างประเทศ

- เอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นๆ


จากนั้นนำเอกสารไปยื่นคำขอรับอนุญาต ณ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอแล้วจะเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณา ก่อนออกใบอนุญาตต่อไป


กรณีผู้ขอผลิต (โดยการปลูก) เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่

- แบบคำขอรับอนุญาต (แบบกัญชง 1)

- แผนการผลิต แผนการใช้ประโยชน์

- แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ปลูกและเส้นทางการเข้าถึง

- หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือสิทธิครอบครอง

- แบบแปลนอาคารโรงเรือน และภาพถ่าย

- เอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่น ๆ


จากนั้นนำเอกสารไปยื่นคำขอรับอนุญาต

- กรณีสถานที่ปลูกตั้งอยู่กรุงเทพฯ ให้นำเอกสารไปยื่น ณ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

- กรณีสถานที่ปลูกตั้งอยู่ต่างจังหวัด ให้ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอและสถานที่เรียบร้อยแล้ว จะเสนอคณะกรรมการพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตต่อไป

ปลูก กัญชง ไม่ยุ่งยาก เผยขั้นตอนขออนุญาต ใครมีสิทธิ์ปลูกได้บ้าง

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีนายหน้าติดต่อเกษตรกรว่า สามารถช่วยให้ได้รับใบอนุญาตโดยเร็วพร้อมรับซื้อผลผลิต โดยต้องเสียค่าสมาชิกแรกเข้าก่อน จึงขอเตือนเกษตรกรว่าอย่าหลงเชื่อ หากต้องขายผลผลิตกัญชงให้ติดต่อ อย. หรือ สสจ. เพื่อขอข้อมูลโรงสกัดที่กำลังยื่นขออนุญาต ส่วนกรณีข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง เช่น เครื่องดื่มใส่เทอร์พีน (terpene) แล้วโฆษณาว่า ช่วยผ่อนคลาย นอนหลับ นั้น ขอเรียนว่า

ขณะนี้ยังไม่มีวัตถุดิบจากกัญชงสำหรับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการอนุญาตปลูกและตั้งโรงสกัดกัญชง เทอร์พีนที่ใช้ในเครื่องดื่มนั้นเป็นกลิ่นสังเคราะห์เพื่อแต่งกลิ่นรสในอาหารเลียนแบบกลิ่นของกัญชา กัญชง จึงไม่มีสรรพคุณตามที่อ้างแต่อย่างใด

ส่วนความคืบหน้าการออกกฎหมายให้ใช้กัญชงในอาหาร ขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้ใช้เมล็ดกัญชง น้ำมันและโปรตีนจากเมล็ดกัญชง ซึ่ง อย. จะทยอยออกกฎหมายให้สามารถใช้ส่วนอื่นของกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มเติม ดังนั้น การออกข่าวของบริษัทต่าง ๆ เป็นเพียงแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่ได้รับเลขสารบบอาหาร หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา กัญชง สามารถสอบถามข้อมูลที่ถูกต้องได้ที่ อย. และ สสจ. ทั่วประเทศ

ข่าวแนะนำ