TNN มท.1 ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

TNN

สังคม

มท.1 ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

มท.1 ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

มท.1 ลงพื้นที่แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ติดตามการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด

วันนี้ (12 มี.ค.64) ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 15 นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย ร่วมประชุม โดยมี นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมประชุม 

นายสิธิชัย จินดาหลวง กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามประเด็นกลุ่มปัญหาความเดือดร้อน/ความจำเป็นเร่งด่วนของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เช่น 1) โครงการจัดการปัญหาที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนไปแล้ว  8,968 ไร่ 5,356 แปลง 4,014 ราย 2) 

ระบบการคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน ปี 2564 ได้ดำเนินการขยายความกว้างผิวจราจร ปรับปรุงผิวทางจราจรเดิม และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง รวม 243 ล้านบาท และในด้านการขยายเขตไฟฟ้า ขณะนี้มีระบบจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว 312 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 75 ของหมู่บ้านทั้งหมด โดยกำหนดเป้าหมายขยายเขตไฟฟ้า 29 หมู่บ้าน 11 เส้นทาง 3) การแพทย์ การสาธารณสุข มีสัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากร 1 : 3,643 ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงและไม่พบผู้ติดเชื้อ เป็นระยะเวลา 344 วัน 

4) การผลักดันการเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าบ้านห้วยต้นนุ่นให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร 5) การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ด้วยการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และการพัฒนา Land mark แห่งใหม่เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน 6) การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำเสีย พบว่าในพื้นที่ บ้านรักไทย อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และหนองจองคำ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ไม่มีผลกระทบจากน้ำเสีย และมีการติดตั้งถังดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสีย และในด้านการบริหารจัดการขยะ ได้มีการรณรงค์กิจกรรม 3ช (ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่) อย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม โดยในปี 63 อปท. สามารถจัดการขยะอันตรายไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จำนวน 49 แห่ง 5,302 กิโลกรัม 

7) การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง ขนาดเล็ก 29 แห่ง โดย กปภ. และ อปท. 389 แห่ง คาดการณ์ว่าน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอในฤดูแล้ง และ 8) การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระหว่างวันที่ 1-7 มี.ค. 64 พบจุดฮอตสปอตสะสม 6,617 จุด PM2.5 เกินมาตรฐาน 16 วัน ซึ่งได้กำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด และประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามเผาเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 8 - 14 มี.ค. 64 รวม 7 วัน

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด เป็นกลไกติดตามการบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐในพื้นที่จังหวัด เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจากประเด็นปัญหาความต้องการของจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า ได้มีความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของพื้นที่ แต่ก็ยังมีปัญหาบางประเด็นที่ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำ ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามประเด็นความต้องการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนให้ดีขึ้นและมีความสุขอย่างยั่งยืน

ข่าวแนะนำ