พิษณุโลก! ม.นเรศวร จัดแสดงผลิตภัณฑ์จากกัญชง
พิษณุโลก - ม.นเรศวร ร่วมภาคเอกชน จัดแสดงผลิตภัณฑ์จากกัญชง พืชเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน “กัญชง” ถูกยกให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ โดยทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วสามารถขออนุญาตปลูกกัญชงในประเทศไทยได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย และยังเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ทั้งทางยา และเครื่องสำอาง โดยถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในทางธุรกิจของประเทศไทย ดังนั้น การถ่ายทอดความรู้จากการทำวิจัย และทางวิชาการจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ หรือเกษตรกรที่สนใจในการผลิตเป็นอย่างมาก
ล่าสุด วันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ทางมหาวิทยาลัยฯและภาคเอกชน ได้นำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชง มาให้ได้ศึกษา และทดสอบ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร ของว่างที่มีส่วนผสมของกัญชง ไม่ว่าจะเป็น คุกกี้ น้ำส้มผสมกัญชง เปาะเปี๊ยะสดใบกัญชง เป็นต้น โดยเฉพาะคุกกี้ได้รับความสนใจมีภาคเอกชนเตรียมผลิตออกมาจำหน่ายให้ประชาชนสามารถซื้อหารับประทานได้
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยนเรศวร ยังได้จัดการฝึกอบรม “การผลิตกัญชงเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง” เพื่อเผยแพร่ความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการ นักธุรกิจ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป เพื่อมุ้งเน้นการยกระดับองค์ความรู้ให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยี และองค์ความรู้สมัยใหม่ และแนวทางในการสร้างอาชีพให้กับประชาชน โดยโครงการ “การผลิตกัญชงเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง”
สำหรับส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% เมล็ด น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ด และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชง ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%
ในส่วนความต่างของกัญชงและกัญชา กัญชาต้นเตี้ยและใบอ้วน ใบสีเขียวจัด มี 5-7 แฉก ส่วนกัญชงต้นสูงและใบเรียว ใบสีเขียวอ่อน มีประมาณ 7-11 แฉก นอกจากนี้สารสกัดที่ได้จากพืชทั้ง 2 ชนิดก็มีปริมาณที่ต่างกันด้วย กัญชงและกัญชามีสารที่เรียกว่า THC (Tetrahydroconnabinol) และ CBD (Canabidiol) ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นตัวแบ่งแยกพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ออกจากกัน
THC เป็นสารที่ทำให้เมาหรือเคลิบเคลิ้ม พบได้มากในกัญชา โดยมีประมาณ 1-20% ส่วนกัญชงมีสารชนิดนี้น้อยกว่า 1% ในทางการแพทย์สาร THC มีประโยชน์ช่วยลดอาการปวด ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร รักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด แต่การใช้สารชนิดนี้ในการรักษาก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยปากแห้ง ตาแห้ง หรือการตอบสนองช้าลงได้
ส่วนสาร CBD ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในกัญชงมากกว่ากัญชา คือพบประมาณ 2% แต่ในกัญชามีสารชนิดนี้อยู่น้อยมาก เมื่อเสพสารชนิดนี้เข้าไปจะไม่มีอาการเมาหรือเคลิบเคลิ้มเหมือนกัญชา คุณสมบัติทางการแพทย์ของ CBD มีหลากหลาย ช่วยลดอาการปวด แก้อาการนอนไม่หลับ แก้อาการโรคลมชัก แม้จะใช้ในปริมาณมากก็ไม่มีผลข้างเคียง และสารนี้ยังนิยมนำมาใช้ในเครื่องสำอางและสกินแคร์ต่าง ๆ ด้วย
อีกประโยชน์หนึ่งของกัญชง คือ เป็นพืชที่ให้เส้นใยยาว เส้นใยมีความละเอียดใกล้เคียงกับลินิน มีความเหนียวทนทาน และมีความเงางาม ครบถ้วนคุณสมบัติเส้นใยชั้นดี จึงเป็นเส้นใยชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ในปัจจุบันผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการมาก
ด้าน ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จัดการฝึกอบรม “การผลิตกัญชงเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง” จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจตั้งแต่ ขั้นตอนการขอรับใบอนุญาต การสกัดสารสำคัญจากกัญชง การผลิตกัญชงแบบโรงเรือนกึ่งเปิดและแบบแปลงปลูก ตลอดจนนวัตกรรมการผลิตอาหาร/เครื่องดื่มจากกัญชง การผลิตอาหารเสริม/เครื่องสำอางจากกัญชง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้จากหลายสถาบัน อาทิ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สถาบันอาหาร และภาคเอกชนในเครือข่าย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้รับความรู้และนวัตกรรมจากการทำวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน