เปิดสถิติคนไทยอ้วนลงพุง เตือนติดโควิดเสี่ยงอาการรุนแรง
สสส.เปิดเผยสถิติ "คนไทยอ้วนลงพุง" กว่า 20 ล้านคน มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดเรื้อรัง หากติดเชื้อโควิด 19 จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
วันนี้( 3 ก.พ.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอ้วนโลก โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับ เครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนาถอดบทเรียนสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยเงียบที่แฝงมากับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมจนน้ำหนักเกินและเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจุบันทั่วโลกพบคนอ้วนมากกว่า 800 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยปี 2557 ถึงปัจจุบันพบคนไทย 19.3 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ34.1 มีภาวะอ้วน และมีรอบเอวเกินหรืออ้วนลงพุง กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้งสองกลุ่มมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง
ด้านรองศาสตรจารย์ แพทย์หญิง พิมพ์ใจ อันทานนท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคอ้วน เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มต่ำ หากติดเชื้อโควิด-19 อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรง
สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดโรคอ้วน อาจเกิดการกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ กินหวาน มัน เค็มมากเกินไป ดื่มแอลกอฮอลล์ สูบบุหรี่ ส่วนโรคอ้วนที่มาจากพันธุกรรม พบว่าอยู่ในส่วนน้อย ขณะที่โรคอ้วนจะส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำนวนมาก เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคมะเร็ง เป็นต้น
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ส่งเสริมให้ประชากรทุกกลุ่มใช้กิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ นิยาม ทุกขยับนับหมด หมายถึงการใช้พลังงานในทุกระยะเวลาเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยในผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150-300 นาที ต่อสัปดาห์