ภัยเงียบ! หมอนรองกระดูกฯกดทับเส้นประสาท แนะควรรีบพบแพทย์
เตือน โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท เตือนประชาชนป้องกันตัวเอง ควรรีบพบแพทย์
วันนี้ (26ก.พ.64) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท โรคนี้เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังหรือมีการฉีกขาดของเยื้อหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลังจากอุบัติเหตุ เช่น การขยับคอผิดจังหวะอย่างรวดเร็วและรุนแรง การก้มหยิบของหนัก การออกกำลังกายแบบหักโหมมากเกินไป ซึ่งมักเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังบริเวณคอและเอว เนื่องจากเป็นกระดูกไขสันหลังส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด ซึ่งมีผลทำให้ชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังบางส่วน เคลื่อนหลุดออกมากดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงหรือรุนแรงถึงขั้นอัมพาตได้
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม อาการของการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคอร้าวไปตามต้นแขน หรือมือ ตรงตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกกด ในรายที่มีอาการรุนแรงส่งผลให้แขนหรือมืออ่อนแรงได้ และอีกกลุ่มคืออาการของการกดของ ไขสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยขาอ่อนแรง เดินลำบาก ขาตึง ชาตามลำตัว และลามไปขาทั้ง 2 ข้าง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของมือร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการปวดตามขาหรือแขนที่อ่อนแรง
ส่วนอาการปวดคออาจจะมีร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้ แพทย์ผู้รักษาจะทำการซักประวัติอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุและส่งตรวจด้วยการเอ็กซ์เรย์ ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคได้เกือบทุกราย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องทำการผ่าตัด กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดมาก อาจใช้เฝือกอ่อนพยุงคอ (soft collar) เพื่อช่วยลดการขยับคอ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายปวดและมีอาการดีขึ้นหรือหายได้ กรณีอาการปวดยังไม่หายและมีอาการอ่อนแรงเพิ่มมากขึ้น แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดแก่ผู้ป่วย ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ค้ำบริเวณช่องว่างกระดูกสันหลัง ด้วยวัสดุที่เลียนแบบธรรมชาติของหมอนรองกระดูก ซึ่งสามารถทำให้ขยับ ก้มเงย หมุนคอ และเอียงคอได้เหมือนธรรมชาติ เรียกว่าหมอนรองกระดูกเทียม (artificial disc replacement)
สถาบันประสาทวิทยาได้ทำการรักษาวิธีนี้มานาน กว่า 10 ปี และมีเทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำงานได้เร็วขึ้น