ข่าวดี! "CEOWORLD" ยกไทยขึ้นอันดับ 5 ของโลก ด้านมรดกวัฒนธรรม
นิตยสาร "CEOWORLD" จัดอันดับไทยติดอันดับ 5 ประเทศยอดเยี่ยมในโลกที่มีอิทธิพลด้านมรดกวัฒนธรรม ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมต่อยอดด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและงานประเพณีท้องถิ่น
วันนี้ (18 ก.พ.64) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่นิตยสาร CEOWORLD จัดอันดับประเทศยอดเยี่ยมในโลกที่มีอิทธิพลด้านมรดกทางวัฒนธรรมโดยอันดับ 1 คือ ประเทศอิตาลี รองลงมาคือกรีซ สเปน อินเดีย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับ 5
ทั้งนี้ CEOWORLD เป็นนิตยสารด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติได้วิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูล 9 ด้าน ได้แก่ สถาปัตยกรรม มรดกงานศิลป์ แฟชั่น อาหาร ดนตรี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและการเข้าถึงทางวัฒนธรรมจาก 165 ประเทศ ซึ่งการจัดอันดับดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทยและแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทยทั้งการมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นมรดกโลก ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันงดงามของแต่ละภูมิภาคล้วนเป็นสิ่งที่จูงใจให้ชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย
ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม จะดำเนินการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG” หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรม ในเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย เพื่อสนับสนุนการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมเทศกาล ประเพณี ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนท่องเที่ยวและกิจกรรมทางวัฒนธรรมในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการดำเนินการใช้หลักการบวร (บ้าน วัด โรงเรียน/หน่วยงานราชการ) เป็นพลังขับเคลื่อน
นอกจากนี้ จะจัดทำระบบศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวัฒนธรรม (M-Culture Big Data) เพื่อเผยแพร่ความรู้และความหลากหลายทางวัฒนธรรมไปสู่ประชาชน จะได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชนที่เกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรม ทำให้ประชาชนและชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมและการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน