

สรุปข่าว
ใครที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือเป็นผู้ประกันตน ของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งเป็นข้าราชการ มีสวัสดิการเบิกค่ารักษาพยาบาล สามารถ "เบิกค่าทำฟัน" ได้ ซึ่งแต่ละสวัสดิการของรัฐนั้น ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เหมือนกัน จะมีอะไรที่เบิกได้บ้าง ไปดูกันเลย...
สิทธิประกันสังคม
สำนักประกันสังคม ได้ให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน กรณีทันตกรรม ในสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับประกันสังคม โดยจะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ไม่นับมาตรา 40 ผู้ประกันตนต้องส่งเงินครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน หากลาออกจากงานแล้วยังใช้สิทธิ์ได้อีก 6 เดือน โดยผู้ประกันตนสามารถรับบริการทางการแพทย์ได้ดังนี้
1. อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด เบิกค่ารักษาได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ ไม่เกิน 900 บาท/ปี
2. การใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน มีสิทธิเบิกค่ารักษาได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 1,300 – 4,400 บาทต่อ 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
2.1 กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน
- 1 - 5 ซี่เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เงิน 1,300 บาท
- มากกว่า 5 ซี่เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
2.2 กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลที่ติดสติ๊กเกอร์ ระบุว่า "สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตน กรณีทันตกรรม ทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย"
สำหรับกรณีที่เข้ารับการรักษากับสถานพยาบาล ที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่ายกับประกันสังคม ผู้ประกันตนจะต้องเตรียมหลักฐานไปยื่นรับเงินที่สำนักงานประกันสังคม ดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
- ใบรับรองแพทย์
- ใบเสร็จรับเงิน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ออกโดยหน่วยงานราชการ
- เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา(กรณีเบิกฟันปลอมฐานอะคริลิก)
อย่างไรก็ตาม สามารถเบิกค่าทำฟันได้ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ระบุในใบเสร็จ
สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง
บัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง สามารถเข้ารับบริการด้านทันตกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม ดังนี้
- การถอนฟัน การอุดฟัน การขูดหินปูน ผ่าฟันคุด
- การทำฟันเทียมฐานฐานพลาสติก
- การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม
- การใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่
- การรักษาฟันคุดตามข้อบ่งชี้ของแพทย์
* ยกเว้น การรักษารากฟันแท้ การจัดฟัน การทำฟันเพื่อความสวยงาม *
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่อยู่ ถ้ารักษาต่างโรงพยาบาลต้องมีหนังสือส่งตัวระบุโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ จึงจะสามารถใช้สิทธิได้ โดยสิทธิบัตรทอง คุ้มครองค่าใช้จ่ายตามการวินิจฉัยทางการแพทย์และประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สอบถามเพิ่มเติม โทร สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชม.
สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
ข้าราชการมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการสำหรับตนเองและบุคคลในครอบครัว ประกอบด้วย บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
สำหรับการเบิกค่ารักษาพยาบาลทางทันตกรรม สามารถเบิกได้ตามอัตราไม่เกินกว่าที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้ เช่น
- การอุดฟัน การถอนฟัน การผ่าฟันคุด
- การผ่าตัดอื่นๆ เกี่ยวกับช่องปากและขากรรไกร
- การรักษาโรคปริทันต์ การรักษารากฟัน การแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติ
- การเคลือบฟลูโอไรด์ทั้งปาก
- การใส่เฝือกฟัน
- การฟอกสีฟันที่ตายแล้ว
- การใส่เครื่องมือปิดช่องเพดานโหว่
- การใส่ฟันเทียมพลาสติกถอดได้ และครอบฟัน
โดยนำใบเสร็จจากสถานพยาบาลของรัฐไปเบิกจากหน่วยงานต้นสังกัดภายใน 1 ปี นับจากวันที่ระบุในใบเสร็จ หรือใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลด้วยใช้บัตรประชาชน เฉพาะกรณีผู้ป่วยนอก ส่วนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีที่ยังไม่มีบัตรประชาชนใช้สูติบัตรและบัตรประชาชนผู้ดูแล
เช็กอัตราค่าบริการทันตกรรม กรมบัญชีกลาง
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม , สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , กรมบัญชีกลาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มัดรวม สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE
ที่มาข้อมูล : -