ดื่มหนักแค่ไหนเสี่ยง "แอลกอฮอล์เป็นพิษ"
อันตรายจากการดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มหนัก ดื่มเร็วในเวลาอันสั้น เสี่ยงแอลกอฮอล์เป็นพิษ เตือนดื่มระดับไหนเสี่ยงเสียชีวิต แนะดื่มอย่างปลอดภัย
จากกรณีการเสียชีวิตของ นายธนาคาร คันธี หรือ แบงค์ เลสเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์สู้ชีวิตชื่อดัง ที่เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์หมดแบนในระยะเวลาอันสั้น จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นอุทาหรณ์ย้ำเตือนถึงอันตรายจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ระมัดระวัง เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารที่ส่งผลต่อระบบประสาทโดยตรง หากบริโภคในปริมาณมากและเร็วเกินไปอาจเกิดภาวะแอลกอฮอลเป็นพิษได้
ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ คือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในปริมาณมากและดื่มแบบรวดเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ตับไม่สามารถขับสารนี้ออกจากเลือดได้ทัน ระบบการทำงานของร่างกายรวนจนเกิดภาวะช็อกที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้
ทั้งนี้ภาวะความเป็นพิษขึ้นอยู่กับปัจจัยการดูดซึมสารในร่างกายของแต่ละบุคคล ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในแต่ละชนิดของเครื่องดื่ม และเพศหญิงจะมีปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ได้ไวกว่าผู้ชาย
สำหรับลักษณะอาการกับระดับแอลกอฮอล์ในเลือด
20 – 49 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการอารมณ์ดี ผ่อนคลาย และการตัดสินใจช้าลงเล็กน้อย
50 – 99 เริ่มเสียการทรงตัว ควบคุมตัวเองได้น้อยลง และตอบสนองช้าลง
100 – 199 เดินเซ กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน
200 – 299 คลื่นไส้ อาเจียน การรับรู้ลดลง และจำเหตุการณ์ไม่ได้
300 – 399 ชีพจรลดลง และอุณหภูมิร่างกายลดลง
มากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ มีโอกาสหยุดหายใจและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ การตอบสนองต่อระดับแอลกอฮอล์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แม้ระดับจะน้อยกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็อาจเสี่ยงจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือการนอนหลับลึกในท่าผิดปกติที่อุดกั้นทางเดินหายใจได้ เช่น การนอนคอพาดกับระเบียงจนกดทางเดินหายใจ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ที่มีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
อันดับแรกรีบโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพ 1669 หรือโทรแจ้งตำรวจ 191 เพื่อขอความช่วยเหลือปลุกผู้ป่วยให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง หากยังดื่มน้ำได้ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่า
หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงหรืออยู่ในท่าพักฟื้น คอยดูว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่ หากพบว่าหยุดหายใจให้ทำการช่วยหายใจ หรือหากพบหัวใจหยุดเต้นให้เริ่มการกู้ชีพ CPR ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่น คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมา
อย่าให้ผู้ป่วยหลับ และห้ามอาบน้ำให้ผู้ป่วย
ส่วนผลกระทบต่อร่างกายจากการดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลต่อหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่แข็งแรง เกิดหัวใจวายได้ง่าย ผลต่อตับ จะเกิดโรคตับแข็ง
หลอดเลือดขยายตัว ผิวหน้าจะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนออกจากทางผิวหน้า บางครั้งอาจเกิดอาการหนาวสั่นหรือเกิดโรคปอดบวมได้ง่ายในฤดูหนาว
มีผลต่อสมอง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดการทำงานของสมองจะทำให้ความจำเสื่อม การตัดสินใจไม่ดี สมาธิเสีย โกรธง่าย พูดช้าลง สายตาพร่ามัว และเสียการทรงตัว
มีผลต่อกระเพาะอาหารอักเสบฉับพลันบางครั้งทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ เพศชายเกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีผลต่อทารกทั้งทางร่างกายและจิตใจ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม
ดื่มอย่างไรถึงจะปลอดภัย แนะนำให้
กินอาหารรองท้องก่อนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมได้เร็วเมื่อท้องว่างไม่ควรดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน
หลีกเลี่ยงการดื่มแบบแก้วต่อแก้วหรือดื่มครั้งละมาก ๆ
เมื่อเริ่มมีอาการมึนหัวให้ลดปริมาณการดื่มหรือหยุดดื่มทันที
อย่าดื่มจนเมาเกินไป
ข้อมูล: ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
กราฟิก : TNN
ข่าวแนะนำ