เตือน! 10 ข่าวปลอมในรอบสัปดาห์ ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ-ส่งต่อข้อมูล
ดีอี เตือน 10 ข่าวปลอมในรอบสัปดาห์ 6-12 ธันวาคม 2567 ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ-ส่งต่อข้อมูล
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ผลิตภัณฑ์ ครีมริดสีดวงทวาร ยุบไว 3 เท่า ไม่ต้องผ่าตัด” รองลงมาคือเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับ” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 830,797 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 558 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 537 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 20 ข้อความ Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 225 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 75 เรื่อง
กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 103 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 65 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 9 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 16 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 32 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับสุขภาพ และหน่วยงานของรัฐ รวมถึงเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด วิตกกังวลได้ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ ครีมริดสีดวงทวาร ยุบไว 3 เท่า ไม่ต้องผ่าตัด
อันดับที่ 2 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับ
อันดับที่ 3 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์กำจัดจุดโฟกัสของข้อเข่าเสื่อมหลังจากใช้เป็นประจำเพียง 2-3 สัปดาห์
อันดับที่ 4 : เรื่อง วิธีเช็กสิทธิเงินสด-เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 เฟส 3 ผ่านเพจติดตามผล24 และเพจดูดวง News
อันดับที่ 5 : เรื่อง วิธีเช็กว่าตับยังแข็งแรง สังเกตได้จากเล็บมือ
อันดับที่ 6 : เรื่อง เมฆเตือนภัยจะเกิดเหตุไฟไหม้รถยนต์บนทางด่วนครั้งใหญ่ ระวังถึงวันที่ 31 ธ.ค. 67
อันดับที่ 7 : เรื่อง ภาคใต้ จะมีพายุเข้าต่อเนื่องอีก 6 เดือน
อันดับที่ 8 : เรื่อง รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนกลับไปอยู่ต่างจังหวัด เนื่องจากมีโรงงานจำนวนมากปิดตัวลง
อันดับที่ 9 : เรื่อง กระทรวงแรงงานเปลี่ยนแปลงกฎหมายเอื้อคนพม่า ประกาศขึ้นทะเบียนอาชีพอิสระมากถึง 9 ล้านคน
อันดับที่ 10 : เรื่อง ชาวเมียนมาสามารถทำใบขับขี่ได้โดยไม่ต้องสอบ
เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับ สุขภาพ หน่วยงานรัฐ และภัยพิบัติ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ผลิตภัณฑ์ ครีมริดสีดวงทวาร ยุบไว 3 เท่า ไม่ต้องผ่าตัด” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คือ รักษาริดสีดวงทวาร หายเป็นปลิดทิ้ง แต่จากการสืบค้นในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว ไม่พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวได้รับการอนุญาตแต่อย่างใด จึงไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ดังนั้นขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูล และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556
ด้านข่าวปลอมอันดับ 2 “ผลิตภัณฑ์ช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับ” กระทรวงดีอี ประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวได้โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่ง อย. จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ต่อไป
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 155
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ
-
เฝ้าระวัง "โนโรไวรัส" ระบาดในเด็ก
- 13/12/67