TNN ข่าวปลอมล่าสุด ประชาชนสนใจสูงสุดประจำสัปดาห์ เตือนอย่าหลงเชื่อ

TNN

สังคม

ข่าวปลอมล่าสุด ประชาชนสนใจสูงสุดประจำสัปดาห์ เตือนอย่าหลงเชื่อ

ข่าวปลอมล่าสุด ประชาชนสนใจสูงสุดประจำสัปดาห์ เตือนอย่าหลงเชื่อ

ดีอี เตือน 10 ข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด ขออย่าหลงเชื่อ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้ คนติดเครดิตบูโรยื่นได้ทุกอาชีพ เพียงมีรายได้ 9,000 บาทขึ้นไป” รองลงมาคือเรื่อง “ธ.ก.ส. เปิดโครงการรวมหนี้ ไม่ต้องค้ำ ไม่เช็กบูโร ยื่นได้ทุกอาชีพ รายได้ขั้นต่ำ 9,000 บาท” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความวิตกกังวล ความสับสน ความเข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง


นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 842,896  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 636 ข้อความ


สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 596 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 17 ข้อความ Website จำนวน 18 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 5 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 231 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 102 เรื่อง โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่


อันดับที่ 1 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้ คนติดเครดิตบูโรยื่นได้ทุกอาชีพ เพียงมีรายได้ 9,000 บาทขึ้นไป


อันดับที่ 2 : เรื่อง ธ.ก.ส. เปิดโครงการรวมหนี้ ไม่ต้องค้ำ ไม่เช็กบูโร ยื่นได้ทุกอาชีพ รายได้ขั้นต่ำ 9,000 บาท


อันดับที่ 3 : เรื่อง ปปง. เปิดเว็บไซต์ตรวจสอบรายชื่อผู้เสียหายที่ขอรับเงินคืนหรือเงินชดเชยผู้เสียหายรายคดี


อันดับที่ 4 : เรื่อง ยื่นหลักฐานเพื่อขอสิทธิ์รับเงินคืนจากโจรออนไลน์ ผ่านเพจ Government Office Region

อันดับที่ 5 : เรื่อง ธ.ก.ส. ออกหนังสือแจ้ง 3 ขั้นตอนการปลดล็อกบัญชีที่ถูกอายัด


อันดับที่ 6 : เรื่อง ลงทุนหุ้นคาราบาว CBG รับประกันเงินทุน 100% ลงทุนระยะสั้นและกองทุนรวม รับรองโดย ก.ล.ต.


อันดับที่ 7 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก Thailand Ministry Of Justice


อันดับที่ 8 : เรื่อง เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ติดต่อขอข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านบัญชีไลน์กระทรวงการคลัง


อันดับที่ 9 : เรื่อง กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านไลน์ ข้าราชการเงินเดือน 13,000 ขึ้นไป กู้ได้ถึง 1 ล้านบาท ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน


อันดับที่ 10 : เรื่อง เอกสารรับรองเว็บไซต์ได้รับการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์


“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อ และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล และอาจทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว


สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ธ.ก.ส. เปิดให้กู้ปิดหนี้ คนติดเครดิตบูโรยื่นได้ทุกอาชีพ เพียงมีรายได้ 9,000 บาทขึ้นไป” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งธ.ก.ส. ไม่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อตามเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเป็นการแอบอ้างนำเอาชื่อของธนาคารไปใช้ในการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต 


ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงการคลัง สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.baac.or.th หรือโทร. 0-2555-0555

0555


อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง