TNN Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?

TNN

สังคม

Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?

Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?

พัทลุง นำ ความรอบรู้ด้านอาหาร มาใช้เป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนเครือข่ายอ่อนหวาน อาหารปลอดภัย สร้างสรรค์บูรณาการร่วมกัน ทั้งจังหวัด เพื่อสร้างห่วงโซ่อาหารปลอดภัยอ่อนหวานให้เกิดทั้งระบบ


แม้ ความรอบรู้ด้านอาหาร หรือ Food Literacy ไม่ได้มีนิยามตายตัวที่ยอมรับในวงกว้าง แต่ก็รับรู้ว่า เป็นการใช้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ ให้เกิดความตระหนักและเลือกบริโภคอาหารที่ดี นำไปสู่การจัดการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน อย่างที่ จ.พัทลุง ที่ผลักดันส่งเสริมให้กระจายสู่วงกว้างจนเกิด ห่วงโซ่อาหารปลอดภัยอ่อนหวาน ให้เกิดขึ้นทั้งระบบ  


เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพัทลุง ด้วยการสนับสนุนของ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านอาหารที่ดีต่อสุขภาวะเพื่อลดภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ผ่านการส่งเสริมความรอบรู้ด้านอาหารไปสู่ความตระหนักในที่สุด  


รูปธรรมที่ชัดเจนของการขับเคลื่อนที่ จ.พัทลุงก็คือ ความร่วมมือบูรณาการจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ จนเกิดโรงพยาบาลอ่อนหวาน อาหารปลอดภัย มีร้านกาแฟหวานน้อยเพื่อเป็นทางเลือกของคนพัทลุง รวมทั้ง กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ ต้นแบบการบูรณาการห่วงโซ่อาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างตลาดสร้างสุขในโรงเรียน ในโรงพยาบาล กระตุ้นให้บริโภคผักมากขึ้น ลดอาหาร หวานมันเค็ม เรียกว่า เป็นจังหวัดที่สามารถดำเนินงานได้ครอบคลุมทั้งพื้นที่


Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?


ทพญ.ชนิฎาภรณ์ สอนสังข์  ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สสจ.พัทลุง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นมาจากงานเครือข่ายอ่อนหวาน อาหารปลอดภัย ทำงานเชิงรุกเรื่องร้านกาแฟหวานน้อย เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกเพื่อสุขภาพลดความหวานในเครื่องดื่ม โดยมีร้านกาแฟเข้าร่วมโครงการ 16 ร้าน ภายใต้ตัวชี้วัดสำคัญที่กำหนดจากทาง สสส. ได้แก่  ต้องมีเมนูอ่อนหวาน , ต้องทำประชาสัมพันธ์ร้าน และในร้านต้องมีสุขอนามัยที่ดี


ในปี 2566 ได้ขับเคลื่อนนโยบายการบริโภคน้ำตาลเหมาะสม และส่งเสริมการบริโภคเพื่อสุขภาวะ จึงประสานกับหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้งานนี้เข้าสู่วาระอาหารปลอดภัยของจังหวัด ก่อนจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งจังหวัด โดยมีภาคีเครือข่ายจากหลายหน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ และภาคเอกชนเข้าร่วม อาทิ เกษตรจังหวัด ศูนย์วิจัยข้าว กลุ่มเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ภาคีแหล่งผลิตอาหาร และบริษัท เบทาโกร เป็นต้น  


นอกจากการทำงานภาพใหญ่ของจังหวัด ทพญ.ชนิฎาภรณ์ ยังได้ขับเคลื่อนการทำงานภายในโรงพยาบาลผ่านโครงการ “โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย พลัสอ่อนหวาน” มีโรงพยาบาลเข้าร่วมทั้งสิ้น  11 แห่ง 

“เรามีกำหนดเกณฑ์ชี้วัด 3 ข้อ คือ ร้านค้าสหกรณ์ในโรงพยาบาลต้องไม่ขายน้ำอัดลม, โรงพยาบาลต้องจัดเมนูอาหารอ่อนหวาน และ เครื่องดื่มหวานน้อยให้แก่ผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 5 เมนู และใช้ Healthy Break หรืออาหารว่างลดแคลอรี่ในการจัดประชุม, และต้องประชาสัมพันธ์รณรงค์และชูนวัตกรรมในชุมชน หลังจากเราให้ข้อมูลไปแล้ว ปรากฏว่ามีเครือข่าย รพ. ถึง 11 แห่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก”  


Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?


จากโรงพยาบาล แนวคิดนี้ก็ถูกส่งต่อไปยัง ร้านกาแฟที่อยู่รอบๆ ทำให้เกิด ร้านกาแฟอ่อนหวานในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะขยายประเด็นอาหารปลอดภัยไปยังโรงเรียนโดยทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อผลักดันให้ จ.พัทลุง เป็นพื้นที่ที่มีอาหารอ่อนหวานและอาหารปลอดภัย เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้เต็มพื้นที่มากยิ่งขึ้น 

    

“การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ทำให้สามารถขยายการทำงานได้เพิ่มขึ้น นอกจากจะเป็นทันตบุคลากรแล้ว ยังมีนักโภชนาการเข้าร่วมงานด้วย จึงได้ทำเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เข้ามาทำร่วมด้วย จึงเกิดการทำงานครบในเรื่องของการลดหวาน มัน เค็ม โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ชุมชน 


“แต่ก่อนจะลงชุมชนต้องเริ่มจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก่อน จึงได้เกิด “ตลาดสร้างสุข” ในโรงพยาบาลและเตรียมขยายไปตลาดใต้โหนด ซึ่งเป็นเครือข่าย และเป็นตลาดใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมาก  รวมไปถึงการทำงานกับเอกชน อย่าง เบทาโกร ที่เขาสนับสนุนให้พนักงานบริโภคอาหารปลอดภัย ส่งเสริมให้พนักงานปลูกผักปลอดสารพิษ ทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น” ทพญ.ชนิฎาภรณ์ อธิบายเพิ่มเติม  


Food Literacy คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพ?


ด้าน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า นโยบายการดำเนินงานเครือข่ายอ่อนหวาน ในจังหวัดพัทลุง มีภาพสำคัญคือ การสร้างความรอบรู้ทางด้านอาหาร หรือ Food Literacy ที่จะทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการบริโภคอาหารที่จะมีผลต่อสุขภาพ รวมทั้งการทำงานเป็นเครือข่าย ก็ช่วยให้กลไกดำเนินงานมีพลังเข้มแข็งขึ้น สร้างกิจกรรมใหม่ๆ ทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรม


“โดยเฉพาะการทำงานกับทีมนักโภชนาการที่มีอยู่ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจงานด้านนี้ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับของอาหารปลอดภัยในมิติต่าง ๆ ได้อย่างดีอยู่แล้ว การขยายผลจากโรงพยาบาล สู่ชุมชน จึงสามารถขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ได้เอง เป็นการส่งต่อพลังการทำงานได้อย่างดี” ทพญ.ปิยะดา กล่าว


สำหรับ ความรอบรู้ทางด้านอาหาร หรือ Food Literacy นั้น แนวคิดนี้มีการพูดถึงกันมาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว โดยสาระสำคัญ คือการเน้นที่ความสามารถในการบริโภคเพื่อให้สุขภาพดี ตั้งแต่ การเลือกซื้ออาหาร การเตรียมอาหาร และการบริโภคอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ 


ในประเทศไทยเอง ไม่ได้มีนิยามเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ก็มักเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน 


เหมือนอย่างที่ จ.พัทลุง ได้มีการขับเคลื่อนวาระอาหารสุขภาวะ โดยการใช้หลักความตระหนักรู้มาสร้างการทำงานแบบเครือข่ายจนเกิดเป็นห่วงโซ่อาหารปลอดภัยอ่อนหวานทั้งระบบในที่สุด 



ภาพ สสจ.พัทลุง  


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง