เปิด 4 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่ม ปี 2568 ผู้บริโภคหันมาเน้นสุขภาพ
เปิด 4 เทรนด์อาหาร และเครื่องดื่ม ปี 2568 พบ ผู้บริโภคยังเน้นคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร ความพึ่งพอใจควบคู่กับสุขภาพ แนะผู้ประกอบการไทยศึกษา และนำมาปรับใช้ในการผลิตอาหาร
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์แนวโน้มของสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ปี 2568 พบว่า ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ แหล่งที่มาของอาหารที่ต้องมีความโปร่งใส เปิดกว้างต่ออาหารที่ผ่านเทคโนโลยีการเกษตร และอาหารที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องเรียนรู้ ปรับการผลิตให้สอดรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกให้ได้
FoodNavigator ได้เผยแพร่บทความแนวโน้มอาหารและเครื่องดื่มแห่งปี 2568 พบว่า ผู้บริโภคมีแนวคิดในการเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถสรุปเป็น 4 เทรนด์สำคัญ ได้แก่ ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ คำนึงถึงสารอาหารเป็นหัวใจสำคัญ อาทิ ผู้บริโภคบราซิล ร้อยละ 83 ต้องการอิ่มนานขึ้น ผู้บริโภคอินโดนีเซีย ร้อยละ 67 ต้องการทดลองอาหารเพื่อสุขภาพเฉพาะบุคคล และผู้บริโภคไทย ร้อยละ 33 ใช้จ่ายกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ เน้นความพึงพอใจควบคู่กับสุขภาพที่ดี บางคนอาจหมายถึงความสะดวกสบาย การได้ลิ้มรสอาหารอร่อยทุกวัน หรือการไม่รู้สึกผิดต่อการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้ผลิตจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด
นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอาหาร ข้อมูลต้องโปร่งใส และ คาดหวัง/เต็มใจที่จะบริโภคอาหารที่ผ่านเทคโนโลยีการเกษตร เช่น ผู้บริโภคสหรัฐฯ ร้อยละ 52 ยอมรับประทานพืชผักที่ผ่านกระบวนการดัดแปรพันธุกรรม ผู้บริโภคสหราชอาณาจักร ร้อยละ 40 ต้องการรู้ข้อมูลมากขึ้นว่าอาหารผลิตมาอย่างไร และผู้บริโภคชาวอิตาเลียน ร้อยละ 23 สามารถเลือกซื้อสินค้าอาหารหรือเครื่องดื่มแม้จะระบุว่ามีการดัดแปรพันธุกรรม
ทั้งนี้ เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารของไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อผลิตอาหารที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
ข่าวแนะนำ