TNN อุทยานฯเปิดแผนป้องกันไฟป่า - หมอกควัน

TNN

สังคม

อุทยานฯเปิดแผนป้องกันไฟป่า - หมอกควัน

อุทยานฯเปิดแผนป้องกันไฟป่า - หมอกควัน

กรมอุทยานฯ เตรียมแผนรับมือป้องกันไฟป่า เฝ้าระวังกลุ่มป่าแปลงใหญ่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดการเผาไหม้ 14 กลุ่มป่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ โดยใช้บทเรียนจากปีที่แล้วมาปรับใช้ ปีนี้ปรับแผนเพิ่มมาในบางจุด เช่น พัฒนาเทคโนโลยีตรวจวัดฮอตปอต หรือ วัดค่าความร้อนสูงให้รู้จุดเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ภายใน 45 นาที จากเดิมใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง พร้อมตั้งเป้าจะลดการเกิดไฟป่าในปี 68 ให้ได้อีกร้อยละ 25

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว TNN ช่อง 16 ถึงแผนความพร้อมรับมือไฟป่าหมอกควันช่วงฤดูหนาว เข้าสู่ฤดูแล้ง ปี 2568 โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้อนุมัติแผนป้องกันไฟป่า หมอกควันมาแล้ว และล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมสั่งการให้เปิดศูนย์เฝ้าระวัง 17 จังหวัดทางภาคเหนือ พร้อมปรับแผนปฏิบัติจากเดิมจะคอยติดตามเฝ้าระวังไฟป่าหมอกควันใน 10 กลุ่มป่าแปลงใหญ่ แต่ในปี 68 เพิ่มกลุ่มป่าแปลงใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเสี่ยงจะเกิดไฟไหม้ 14 กลุ่มป่า ส่วนใหญ่คือกลุ่มป่าทางภาคเหนือ ทั้งนี้กรมอุทยานฯ จะประสานร่วมกับทุกหน่วยในการปูพรมเฝ้าระวังและคอยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปดับไฟป่า รวมถึงเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ดึงเอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จัดสรรงบประมาณลงไปในชุมชนเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่า ชุมชนละ 5 หมื่นบาท ซึ่งในปี 68 กรมอุทยานได้ตั้งจุดเฝ้าระวังพร้อมส่งกำลังออกไปดับไฟหากเกิดเหตุ 3,500 จุด ขณะเดียวกันยังเน้นใช้แผนปฏิบัติเดิม คือ ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตามชุมชนเป้าหมายซึ่งมักจะอยู่ในเขตที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านสร้างความเข้าใจร่วมกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปลักลอบจุดไฟหาของป่า พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจวัดค่าฮ็อตสปอต หรือ ค่าความร้อนสูงให้สามารถรู้จุดเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ภายใน 45 นาที จากเดิมใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งหากสามารถรู้จุดค่าความร้อนที่ไฟจะปะทุได้เร็ว ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าระงับไฟได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงไม่ให้ไฟลุกลามเป็นวงกว้าง 

นอกจากนี้ อธิบดีกรมอุทยาน ยังย้ำว่า แผนการรับมือกับไฟป่าหมอกควัน จะต้องควบคุมไม่ให้เกิดจากการลักลอบเผาของประชาชนให้ได้ หรือหากเกิดไฟป่าขึ้นจะต้องเข้าถึงพื้นที่เพื่อดับไฟให้เร็ว และการจะเข้าถึงพื้นที่โดยเฉพาะป่าชั้นในได้เร็วจำเป็นต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ทุ่นแรงเจ้าหน้าที่ ล่าสุด เตรียมจะสร้างจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ 170 จุด ใน 17 จังหวัดทางภาคเหนือ เพื่อใช้เป็นจุดจอดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ให้เข้าดับไฟได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ลดระยะเวลาในการเดินลุยป่าเข้าไป รวมถึงเพิ่มสมรรถนะโดรนให้มีประสิทธิภาพ สามารถขนสัมภาระที่มีน้ำหนักได้มากขึ้น เพื่อส่งอุปกรณ์เสริมช่วยเจ้าหน้าที่ในการดับไฟ ทั้งนี้จะมีการเริ่มซักซ้อมแผนในการป้องกันและดับไฟป่าตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ (2567) โดยเชื่อว่าในปี 68 จะรับมือกับไฟป่าได้มีประสิทธิภาพขึ้น ตั้งเป้าว่าจะลดการเกิดไฟป่าได้อีกร้อยละ 25 จากปี 67 ลดการเกิดไฟป่าได้ร้อยละ 30 

ส่วนพื้นที่ต้องเฝ้าระวังจะเกิดไฟป่าในช่วงแรกคือ ผืนป่าตะวันตก เช่นป่าอุทยานในขตจังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นไฟป่าจะไปเกิดในภาคเหนือ เริ่มที่ จ.ลำปาง เชียงใหม่ ตาก เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ปัญหาของไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนหนึ่งหรือกว่าร้อยละ 70 เป็นหมอกควันลอยข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ในแต่ละปีกรมอุทยานฯจึงทำข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU กับประเทศเพื่อนบ้านในการส่งเสริมความร่วมมือลดและป้องกันการเกิดไฟป่า ซึ่งตั้งแต่ที่สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง อธิบดีกรมอุทยานฯ บอกว่า ทำให้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยากว่า ช่วงฤดูของไฟป่าจะยาวนานกว่าเดิมหรือไม่ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทจะต้องมีแผนรับมือในทุกมิติ ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง