กทม. เตือนอย่าหลงเชื่อ - แชร์ต่อข้อมูลบิดเบือนน้ำท่วมกรุง
กทม. เตือนอย่าหลงเชื่อ - แชร์ต่อ ข้อมูลบิดเบือนน้ำท่วมกรุง พร้อมระบุดูข้อมูลจุดเสี่ยง 737 จุดได้ที่เว็บสำนักการระบายน้ำ
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่ากรุงเทพมหานคร จะมีพื้นที่เขตใดที่น้ำไม่ท่วม เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเจ้าพระยาขึ้น - ลง เขตใดเสียหายบางส่วนหรือเสียหายยกเขตจากน้ำเหนือ หรือเขตใดจะรับผลกระทบบ้างนั้น กรุงเทพมหานครขอย้ำว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือน และไม่เป็นความจริง ขอประชาชนอย่าได้หลงเชื่อและส่งต่อ
ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังที่อาจได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม, น้ำเหนือ - น้ำหนุน คือชุมชนที่อยู่นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน โดยกทม.ได้สั่งการให้สำนักงานเขตซึ่งมีพื้นที่นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำออกประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนลงไปยังชุมชนให้พร้อมรับมือหากเกิดระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เช่น ยกของขึ้นที่สูง สำรวจปลั๊กไฟ และขอให้ประชาชนคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที ส่วนพื้นที่ปลอดภัยภายในแนวเขื่อนกั้นน้ำนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยง เตรียมพร้อมอุปกรณ์ป้องกันน้ำ บำรุงรักษาแนวเขื่อน
ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ได้ถอดบทเรียนน้ำท่วมเมื่อปี 2565 เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขน้ำท่วมในแต่ละจุด เช่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว ทำ pipe jacking ท่อระบายน้ำ หรือ การก่อสร้างท่อระบายน้ำด้วยวิธีดันท่อลอดใต้ดิน โดยจุดเสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร จากการถอดบทเรียนปี 2565 ที่มีฝนตกในปริมาณมากนั้น มีจำนวน 737 จุด ซึ่งมีความละเอียดกว่าข้อมูลบิดเบือนที่ถูกปล่อยออกมามาก โดยสามารถดูข้อมูลจุดเสี่ยงแบบละเอียดได้ที่เว็บไซต์สำนักการระบายน้ำ ทั้งนี้ จุดเสี่ยงน้ำท่วม 737 จุดนั้น เป็นจุดที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมขังในกรณีมีฝนตกหนักถึงระดับ 100 มิลลิเมตร ขึ้นไป
สำหรับประชาชนที่ต้องการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมและคาดการณ์ฝน กรุงเทพมหานคร เปิดทุกช่องทางให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรวดเร็วได้ที่เว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/ และ เฟซบุ๊ก ของกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันนอกจากการแจ้งเตือนของ กทม.แล้ว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถติดตามสถานการณ์น้ำแบบ Real Time ได้ที่ เว็ปไซต์ของ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน.ได้
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ
-
ยุงกัดแต่ละครั้ง เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
- 10/10/67