กทม.ไม่กังวลน้ำเหนือ ห่วง"Rain Bomb"ต.ค.จากลานีญา
ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยัน โอกาสที่น้ำเหนือไหลเข้าท่วมกรุงเทพมีน้อย โดยระบุว่า กทม.มีแผนรับมือน้ำที่มีศักยภาพมากกว่าปี 2554 ขณะเดียวกันต้องจับตา ปลายเดือนตุลาคม มีน้ำทะเลหนุนสูงสุดและปริมาณฝนมากกว่า 200 มม. เพิ่มมากขึ้น จากอิทธิพลความรุนแรงของลานีญา ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วม ย้ำแผนรับมือช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้นกว่าทุกปี
นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ เผยถึงการรับมือน้ำเหนือของกรุงเทพมหานครว่า ขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยามีเขื่อนสูง 3 เมตร 50 เซนติเมตร สามารถที่จะรองรับน้ำที่ผ่านเข้าเมืองกรุงเทพได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ลบม./วินาที โดยล่าสุด วันนี้ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 1,700 - 1,800 ลบม./วินาที ยังเหลือพื้นที่รับน้ำค่อนข้างเยอะ โอกาสที่น้ำเหนือจะเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมเป็นไปได้ยาก แต่จะมีปัจจัยนำทะเลหนุนสูงที่สุดในวันที่ 19-21 ตุลาคม ที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ฟันหลอจะมีน้ำรอการระบาย 2-3 ชั่วโมง เท่านั้นไม่ได้เป็นผลกระทบระยะยาวกับประชาชน
สำหรับสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและมีผลกระทบกับกรุงเทพโดยตรง คือสถานการณ์ลานีญ่าเต็มรูปแบบ ในเดือนตุลาคมจะมีฝนตกมากขึ้นกว่าเดือนกันยายน ซึ่งส่งผลให้กรุงเทพมหานครเกิดฝนตกหนักเฉพาะจุด หรือ เรนบอมบ์ เพิ่มขึ้น ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณฝนสะสม 260 มม. ส่งผลให้หลายพื้นที่ อย่าง เขตดอนเมืองและเขตสายไหม ได้รับผลกระทบหนัก
ทั้งนี้ ทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมแผนรับมือเอาไว้แล้ว โดยการขุดลอกท่อระบายน้ำ 6,000 กว่ากิโลเมตร แล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว การขุดลอกคลองแล้วเสร็จกว่า 300 กิโลเมตร กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและขยะต่างๆ ระยะทางรวม 1,400-1,500 กิโลเมตร ประกอบการเตรียมเครื่องสูบน้ำ และระบบการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ต่างๆ มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้
นายอรรถเศรษฐ์ ยืนยันว่า กรุงเทพมหานครจะไม่เจอน้ำท่วมช้ำเหมือนปี 2554 ในปีนี้มีศักยภาพรับมือน้ำแตกต่างกัน โดยปัจจุบันอุโมงค์รับน้ำของกรุงเทพมหานครทั้ง 4 แห่ง มีศักยภาพพร้อมรับน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถระบายน้ำรวมได้ 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และที่ผ่านมาระบายน้ำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อย่าง ซอยอุดมสุข และเขตวัฒนา คาดว่า 3 เดือนสุดท้ายที่จะมีฝนเพิ่มจะระบายน้ำได้เร็วขึ้น และยังมีอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ที่เริ่มเปิดใช้งานบางบางส่วน มาเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
ข่าวแนะนำ