TNN ภาพถ่ายดาวเทียมเปิดข้อมูล น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน

TNN

สังคม

ภาพถ่ายดาวเทียมเปิดข้อมูล น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน

ภาพถ่ายดาวเทียมเปิดข้อมูล น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน

GISTDA เผยภาพถ่ายดาวเทียม เปิดข้อมูล เหตุการณ์น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมากมาจากไหน

GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เปิดเผย ภาพถ่ายดาวเทียม พร้อมข้อมูล โดยระบุว่า น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน


ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำให้ดินตามภูเขาค่อยๆ สะสมน้ำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 8 กันยายน 2567 เกิดฝนตกหนักติดต่อกันต่อเนื่องเหนือพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำสายและแม่น้ำกก ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นและไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย 


โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย ที่ก่อนหน้านี้เกิดน้ำท่วมในตัวเมืองแล้ว 6 ครั้งในปี 2567 และครั้งล่าสุดช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือนร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำท่วมผ่านไปแล้วแต่ชาวบ้านบางพื้นที่ยังเข้าบ้านไม่ได้เพราะปัญหาตะกอนดินโคลนทับทมจำนวนมากที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้


มีรายงานว่าน้ำที่ไหลลงมาตามลำน้ำสายมีทั้งเศษไม้ ขอนไม้ สิ่งปฏิกูล ไหลลงมาด้วย แต่ทว่าเมื่อน้ำลดลงปรากฏตะกอนโคลนและดินเป็นจำนวนมากตกค้างอยู่ตามสถานที่ต่างๆ บ้านเรือนของประชาชน ใกล้กับแม่น้ำสายโดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่บริเวณเชิงเขา ที่บางจุดมีดินโคลนทับถมสูงกว่า 2 เมตร 


ภูมิประเทศของเมืองแม่สาย 


หากพิจารณาในเชิงภูมิศาสตร์ ตัวเมืองแม่สายตั้งอยู่ติดกับเชิงเขาและติดกับแม่น้ำที่ไหลมาจากเขตภูเขา ในขณะเดียวกันการศึกษาด้านธรณีวิทยาพบว่าพื้นที่บริเวณตัวเมืองเเม่สาย โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำสายที่ใกล้กับด่านชายแดนไทย-เมียนมา เป็นพื้นที่ที่มีดินตะกอนไหลทับถมสะสมมาตั้งแต่อดีต 


ด้วยที่ตั้งของเมืองและลักษณะภูมิประเทศทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาย มีความเชี่ยวและแรงโดยธรรมชาติ โดยแม่น้ำสายทอดตัวในเขตภูเขาที่เป็นพื้นรับน้ำลงสู่แม่น้ำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศเมียนมาประมาณ 80% และอีก 20% เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นราบลุ่มในเขตแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก


ในสภาวะปกติลักษณภูมิประเทศแบบนี้มักจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พื้นที่ ด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่ปะปนมากับตะกอนในแม่น้ำ แต่ทว่าบริบทการใช้ชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก การสำรวจโดยนักวิชาการไทยพบว่าปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำแม่สายได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพของป่าไม้การชะลอและกักเก็บน้ำลดลงไปด้วย 


เปิดหลักฐานบนภาพดาวเทียม 


หลักฐานปรากฏชัดเจนด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา ในเขตอำเภอแม่สาย ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของพื้นที่รับน้ำทั้งหมดของแม่น้ำสาย พบดินถล่มหลายจุดปรากฏเป็นสีน้ำตาลแดง ตัดกับสีเขียวของป่าไม้หรือแปลงเกษตรอย่างเห็นได้ชัด 


แต่ละร่องรอยมีความกว้างประมาณ 20 – 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับถนนขนาด 4 เลน และมีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่าง 

ภาพถ่ายดาวเทียมเปิดข้อมูล น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน


ถอดบทเรียน


ทุกๆ ความสูญเสียมักก่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด ภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจภาพรวม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำไปปรับใช้ ต่อยอดสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ 


นอกจากนั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศยังทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายหมู่บ้านในประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นที่แม่สาย และในอดีตก็เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นการตระหนักรับรู้ความเสี่ยงในพื้นที่ของตนและปรับตัวตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้


ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายที่กำลังจะผ่านพ้นไป ถูกแทนที่ด้วยภาพแห่งความร่วมมือและน้ำใจจากทั่วทุกสารทิศกำลังไหลมาแทนที่ เพื่อส่งต่อกำลังใจให้พี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่อื่นๆ ทางทีมงานก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนในพื้นที่ฟื้นคืนกลับมาได้โดยเร็ว

ภาพถ่ายดาวเทียมเปิดข้อมูล น้ำท่วมแม่สาย โคลนจำนวนมาก มาจากไหน



ภาพจาก GISTDA 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง