กทม.เตรียมรับมือน้ำเหนือ คาดมวลน้ำเทียบเท่าปี 65
กรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เตรียมรับมือการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งรับน้ำมาจากภาคเหนือ โดย รองผู้อำนวยการ สำนักระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ปริมาณน้ำในปีนี้อาจเทียบเท่ากับปี 2565 แต่ไม่มากเท่าปี 2554 โดยขณะนี้ได้เร่งขุดลอกคลองที่รับน้ำเหนือโดยตรง และ ได้เสริมกระสอบทรายในพื้นที่จุดอ่อนตลอดแนวริมน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดแล้ว
ตามที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ (อศ.) ออกประกาศแจ้งเตือนสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 14/2567 ให้ระมัดระวังผลกระทบจากระดับน้ำขึ้นสูง ในช่วงวันที่ 17-24 สิงหาคม 2567 ประกอบกับในพื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และอาจส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เปิดถึงแผนเตรียมการรับมือว่า จากการติดตามปริมาณน้ำตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำอยู่ที่ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่บริเวณเขื่อน อำเภอบางไทรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การระบายน้ำอยู่ที่ 560 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน (ระบายน้ำอยู่ที่ 600 กว่าลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงท้ายเขื่อนยังไม่น่าเป็นห่วง ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ไหลลงลุ่มแม่น้ำโขง จึงไม่กระทบกับพื้นที่ปริมณฑลและกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังมีพื้นที่รองรับน้ำเพียงพอ
อย่างไรก็ตามกทม. ได้วางแผนรับมือน้ำเหนือเอาไว้เช่นกัน โดยเฉพาะคลองเปรมประชากร เป็นคลองรับน้ำเหนือโดยตรง ที่อยู่ระหว่างโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร ซึ่งยังพบปัญหาชุมชนรุกล้ำลำคลอง โดยในส่วนของการรับน้ำเหนือกรุงเทพมหานครได้ใช้เรือขุดลอก โดยตรงในจุดที่ยังไม่ได้ก่อสร้างเขื่อน เพื่อเร่งการระบายน้ำเหนือใต้สู่ คลองด้านขวา ได้แก่ คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองสามเสน และคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น โดยระบุว่า ปริมาณน้ำปีนี้จะไม่มากเท่ากับปี 2554 แต่อาจเทียบเท่ากับปี 2565
ทั้งนี้ กทม. มีการเข้าตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะคลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง ในช่วงที่มีระดับน้ำขึ้นสูง ซึ่งมีความยาว 88 กิโลเมตรและมีแนวทางฟันหล่ออยู่กว่า 3 กิโลเมตร โดยได้มีการเสริมกระสอบทรายตลอดแนวเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่ชุมชน ขณะที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ ที่ต้องเฝ้าระวังมี 16 ชุมชน รวมกว่า 700 หลังคาเรือน ที่จะต้องมีการแจ้งเตือนกรณีที่น้ำเพิ่มระดับสูงขึ้น
ข่าวแนะนำ