TNN ปี 67 ไทยป่วย 6.8 ล้านคน จากมลพิษทางอากาศ

TNN

สังคม

ปี 67 ไทยป่วย 6.8 ล้านคน จากมลพิษทางอากาศ

ปี  67 ไทยป่วย 6.8 ล้านคน จากมลพิษทางอากาศ

ปี 2567 พบคนไทยป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศกว่า 6.8 ล้านคน นำร่องแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) ระยะ2 ในเขต 5 พื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีประชากรหนาแน่น

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ หรือ ศวอ. 

จัดงานสรุปผลการดำเนินงานศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ ภายใต้ โครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะที่ 2 ในการลดมลพิษอากาศจากยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกในเขตเมือง พร้อมมอบรางวัลแก่ สถานประกอบการ สถานศึกษา และศาสนสถานระดับดีเด่น 21 แห่ง ที่สร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหามลพิษอากาศอย่างมีส่วนร่วม


นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มฝุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ล่าสุด เดือนกรกฎาคม 2567 ของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข จากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ กว่า 6.8 ล้านคน สะท้อนความรุนแรงจากพิษภัยของฝุ่น PM2.5 จึงได้ยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง “การลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574) สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย เร่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ นำร่องแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) ระยะ2 ร่วมมือกับสถานประกอบการ สถานศึกษา และศาสนสถานทั้ง 5 เขต กทม. ที่มีประชากรหนาแน่น  ได้แก่ เขตปทุมวัน , คลองสาน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย , คลองเตย และบางรัก


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า กทม. ได้ร่วมกับดำเนินการ โดยจัดทำแผนลดฝุ่น 365 วัน รวมทั้งแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤต / โดยมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กทมฯ ประจำปี 2567 เช่น การพยากรณ์แจ้งเตือนป้องกันฝุ่น , การขยายระบบติดตามฝุ่นระดับแขวง 1,000 จุด , การตรวจจับควันดำ ,การสนับสนุนให้เกิด Ecosystem ของรถพลังงานไฟฟ้า และทดลองดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นรถไฟฟ้า ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร ฯลฯ เป็นต้น 


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจ กรุงเทพฯ สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ระบุว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ปี 2564 พบว่า ต้นตอฝุ่น PM 2.5 มี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.“พื้นที่ไฟป่า” โดยพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ ด้านหลังเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี 2.การเผาในพื้นที่เกษตร ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3.มลพิษอากาศจากการคมนาคมขนส่งหรือการจราจร ซึ่งทางสภาฯ อยู่ระหว่างเดินหน้าหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการไฟป่าและการเผานอกพื้นที่กรุงเทพ ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเอง ต้องเดินหน้าลดมลพิษทางอากาศจากการเดินทางให้ได้น้อยที่สุด 


ข่าวแนะนำ