"ลานีญา"ปีนี้ไม่รุนแรง น้ำอาจไม่พอแล้งหน้า
สทนช.คาดปรากฎการณ์ลานีญาปีนี้จะไม่รุนแรง แม้ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ฝนจะตกหนักบ้างบางพื้นที่ แต่ก็อาจไม่สามารถกักเก็บน้ำเข้าเขื่อนหลักได้ ซึ่งจะต้องบริหารจัดการการใช้น้ำให้ดี บางเขื่อนจำเป็นต้องพิจารณาปรับลดการระบายน้ำลง เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้เพียงพอไปจนถึงฤดูแล้งปีหน้า
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช.เป็นประธานการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำ โดยเปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลรายงานจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ปรากฎการณ์ลานีญาปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนอย่างที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากความรุนแรงของปรากฎการณ์ธรรมชาติขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ร่องความกดอากาศ หย่อมความกดอากาศ รวมถึงร่องมรสุม และถึงแม้ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะเป็นฤดูฝนมีแนวโน้มฝนตกหนักบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันตก แต่ก็มีความกังวลว่าปริมาณฝนที่ตกลงมาจะไม่เพียงพอต่อการกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง เนื่องจากเขื่อนหลักหลายเขื่อน อย่างเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บไว้ใช้การในปริมาณน้อย และถึงฝนจะตกลงมาส่วนใหญ่ก็ไม่ไปตกเหนือเขื่อนจึงจะทำให้ช่วงฤดูฝนอาจกักเก็บน้ำไว้ไม่ได้มาก ดังนั้นต้องบริการจัดการใช้น้ำ โดยอาจพิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆลงเพื่อให้มีเพียงพอผลิตในฤดูแล้ง และมีน้ำสำรองสำหรับทำนาปรังให้กับเกษตรกรด้วย
ส่วนอีกสองเขื่อนหลัก คือ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ประเมินว่าหากลานีญ่ามายังพอจะช่วยถนอมกักเก็บน้ำไว้ได้ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมีฝนตกในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง น้ำท่วมหลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี ซึ่งน้ำที่ตกลงมาส่วนหนึ่งจะไหลเข้าเขื่อนและสามารถกักเก็บไว้ใช้ในพื้นที่ได้ และยังสามารถส่งมาผลิตอุปโภคบริโภคในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ด้วย ขณะเดียวกันยังกระจายส่งไปช่วยฝั่งลุ่มแม่น้ำท่าจีนได้เช่นกัน
ด้านปริมาณน้ำในเขื่อนทางภาคอีสาน เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อลำปาว ปัจจุบัน ยังมีน้ำใช้การได้พอสมควร ยังพอสามารถบริหารจัดการได้ และได้พร่องน้ำจากแม่น้ำชี แม่น้ำมูลออกเพื่อเตรียมรองรับน้ำฝน ทั้งนี้ รองเลขาธิการ สทนช.ย้ำว่า การบริหารจัดการอยากให้คำนึงถึงจะต้องมีน้ำเพียงพอไว้ใช้ในฤดูแล้ง และทุกพื้นที่ไม่ควรระบายน้ำหรือพร่องน้ำออกมากเกินไป
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ สทนช.กล่าวเพิ่มเติมถึง ว่านอกจากคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน และบริหารจัดการกักเก็บไว้ใช้ให้เพียงพอในฤดูแล้ง ช่วงที่ฝนจะตกในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนด้วย โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี คอยตรวจดูระบบแจ้งเตือนต่างๆ ต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือและลดความรุนแรงจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำหลาก ดินโคลนถล่ม ขณะที่อุปกรณ์บรรเทาความเดือดร้อนก็ต้องให้มีความพร้อม
ข่าวแนะนำ