TNN ภาคสังคมดันกม.ลาคลอด 180 วัน เพิ่มสิทธิแรงงาน

TNN

สังคม

ภาคสังคมดันกม.ลาคลอด 180 วัน เพิ่มสิทธิแรงงาน

ภาคสังคมดันกม.ลาคลอด 180 วัน เพิ่มสิทธิแรงงาน

เครือข่ายภาคประชาสังคมสัมมนาวิชาการร่วมผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 180 วัน โดยอ้างอิงข้อมูลขององค์การอนามัยโลกแนะนำให้มารดาต้องเลี้ยงดูด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์กรุงเทพมหานคร  มูลนิธิเพื่อนหญิง  และเครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมจัดสัมมนาทางวิชาการ สังคมไทยได้อะไรถ้าผ่านร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการลาคลอด 180 วัน โดยนายบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง และหนึ่งในกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า ได้เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขใน 2 เรื่องที่มีผลต่อลูกจ้างภาครัฐ และเอกชน คือการขยายสิทธิ์วันลาคลอดจาก 98 วัน ให้เป็น 180 วัน ที่สำคัญเป็นการคุ้มครองลูกจ้างภาครัฐให้ได้ สิทธิ วันลาตลอดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและแรงงาน


นายบัณฑิต ระบุด้วยว่า กฎหมายปัจจุบันให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาคลอดโดยได้รับค่าจ้าง ไม่เกิน 98 วัน ซึ่งเป็นการกำหนดตามมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ  แต่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกแนะนำให้มารดาต้องเลี้ยงดูด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้สารอาหารอื่นผสมอย่างน้อย 6 เดือนหรือ 180 วัน โดยข้อมูลในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึง 6 เดือนเพียงร้อยละ 28 


นอกจากนี้ข้อมูลทางด้านสาธารณสุข ในหลายประเทศเช่นที่สหรัฐอเมริกา ก็พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 180 วัน หรือ 6 เดือนสามารถช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณทางด้านการประกันสุขภาพได้  ขณะเดียวกันสถานการณ์ทั่วโลกต้องการเพิ่มประชากรที่มีคุณภาพ การที่จะเพิ่มสิทธิการลาคลอดมีความจำเป็นอย่างมากต่อประเทศไทย


ทั้งนี้ในเวทีสัมมนา ยังได้มีการนำเสนอข้อมูลจากการสำรวจแรงงานหญิงที่ใช้สิทธิลาคลอดไม่ครบตามกำหนด 98 วัน โดยเหตุผลส่วนใหญ่ ร้อยละ 37 ไม่อยากขาดรายได้ รองลงมา ร้อยละ 24 เพราะเกรงใจเพื่อนร่วมงาน และ ร้อยละ 19 นายจ้างตามตัวให้กลับไปทำงาน 


การสัมมนาในวันนี้ จึงมีการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงความสำคัญต่อการลาคลอด 180 วัน สรุปเป็นข้อมูลเสนอ ต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  ซึ่งร่างดังกล่าวกำลังถูกพิจารณาจากกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร 


ข่าวแนะนำ