TNN เปิดความหมายกระเบื้องปูพื้น "ลายดอกโบตั๋น" สื่อถึงอัตลักษณ์แห่งเยาวราช

TNN

สังคม

เปิดความหมายกระเบื้องปูพื้น "ลายดอกโบตั๋น" สื่อถึงอัตลักษณ์แห่งเยาวราช

เปิดความหมายกระเบื้องปูพื้น ลายดอกโบตั๋น สื่อถึงอัตลักษณ์แห่งเยาวราช

เที่ยวเยาวราช กทม. เฉลยแล้วทำไมต้องทำทางเท้ากระเบื้อง “ลายดอกโบตั๋น” เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวย ความซื่อสัตย์ ความมีโชค

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 1 นำสื่อมวลชนชมการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของย่านเยาวราชผ่านกระเบื้องลายดอกโบตั๋นที่งดงามในโครงการปรับปรุงทางเท้าใหม่ริมถนนเยาวราช ภายใต้นโยบายการพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร


โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การลงพื้นที่วันนี้มาเพื่อแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายหลักที่กรุงเทพมหานครตั้งไว้คือ การพัฒนาทางเดินตามนโยบายเดินได้เดินดี 1,000 กิโลเมตร ใน 4 ปี หนึ่งในนั้นคือเยาวราช ที่ไม่ใช่แค่ปรับปรุงทางเท้าแต่ยังเสริมมิติด้านเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว โดยดึงอัตลักษณ์ย่านและเชื่อมโยงย่านต่าง ๆ เข้าหากัน นี่คือหัวใจของการพัฒนา ซึ่งที่สุดแล้วผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร


ด้าน ส.ก.พินิจ กล่าวถึงที่มาที่ไปของกระเบื้องลายโบตั๋นว่า หลังรับตำแหน่ง ได้ลงสำรวจทางเท้าเยาวราชซึ่งพบว่าค่อนข้างเสื่อมโทรม จึงมีความคิดอยากปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัจจุบันยิ่งขึ้น จึงได้ปรึกษากับทางเขตและได้รับความร่วมมือจาก SCG ในการออกแบบ โดยได้เลือกกระเบื้องเป็นลายดอกโบตั๋นเพื่อให้สอดคล้องกับไชน่าทาวน์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้คนในพื้นที่ และจากนี้ พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ก็จะปรับเปลี่ยนกระเบื้องปูทางเท้าจากแบบเก่าที่เป็นลายเกล็ดมังกรที่ตนเคยทำไว้ ให้ทางเท้าเป็นลายดอกโบตั๋นทั้งหมด


 .ส.ปารเมศ กล่าวเสริมว่า ในภาพกว้างได้ดูแลในเรื่องการคมนาคมเชื่อมเขตสัมพันธวงศ์กับย่านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก ดุสิต เพื่อความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ที่จะเชื่อมต่อหลาย ๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ ชั้นในเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว


 โดยโฆษกฯ กทม. ยังกล่าวอีกว่า การปรับปรุงทางเท้าเยาวราช ไม่เพียงชูอัตลักษณ์ให้กับย่านนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้ทุกคนเดินได้และเดินดีไปพร้อมกัน


 ● เพราะทางเท้าคือหนึ่งในเส้นเลือดฝอยที่สูบฉีดไปสู่เส้นเลือดใหญ่ของเมือง


 การพัฒนาเส้นเลือดฝอยที่สำคัญข้อหนึ่ง ตามแนวทางของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือการพัฒนาทางเท้า ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินได้ เดินดี โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กทม. ได้ปรับปรุงทางเท้าให้ได้มาตรฐานมากขึ้น 785 กิโลเมตร ไม่นับรวมการแก้ไขเป็นจุด ๆ ตามข้อร้องเรียนในระบบ Traffy Fondue เพราะเมืองที่เดินได้ จะทำให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคนจะใช้ชีวิตเหนื่อยน้อยลง

เปิดความหมายกระเบื้องปูพื้น ลายดอกโบตั๋น สื่อถึงอัตลักษณ์แห่งเยาวราช	ภาพจาก : กรุงเทพมหานคร


 ● นโยบายปรับปรุงทางเท้าเยาวราช สู่การโปรยทางเดินด้วยกระเบื้องลายดอกโบตั๋น


ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ เป็นย่านไชน่าทาวน์ที่สะท้อนสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชาวไทยและชาวจีนที่มีมาอย่างยาวนาน กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ SCG จึงนำดอกโบตั๋นซึ่งเป็นดอกไม้สำคัญของชาวจีน มาสร้างอัตลักษณ์ในการปรับปรุงทางเท้าในครั้งนี้ เพราะ “ดอกโบตั๋น” นับว่าเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญเนื่องจากคนจีนเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวย ความซื่อสัตย์ ความมีโชคลาภ ลายดอกโบตั๋นบนถนนเยาวราชจึงไม่เพียงเพิ่มความสวยงามและเสน่ห์ให้กับท้องถนนเท่านั้น แต่ยังสร้างแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวใหม่ ด้วยทางเดินเท้ามีอัตลักษณ์และเป็นที่น่าจดจำ


และไม่เพียงแค่เป็นการปรับปรุงทางเดินเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่นี้ ด้วยขนาดทางเดินเท้าที่กว้างขึ้น ก่อสร้างด้วยมาตรฐานใหม่ (คอนกรีตเสริมเหล็ก) และการออกแบบให้เป็น Universal Design ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ใช้งาน ทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงคนพิการ เพื่อให้ผู้คนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นอีกด้วย


 ● ลงลึกถึงกลีบโบตั๋น ความอัศจรรย์บนกระเบื้องขนาด 40 x 40 x 3.5 ซม.


กระเบื้องปูทางเท้าลวดลายเป็นดอกโบตั๋นนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่ในยังแฝงนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาด้วย นั่นคือ เทคโนโลยีการพ่นผิว (Shot Blast) ในการสร้างลวดลาย ใช้หลักการเหวี่ยงจากใบพัด หรือ Turbine ให้ผงโลหะกระทบต่อผิวกระเบื้อง เป็นกระบวนการเปิดผิวหน้าชิ้นงาน พื้นผิวส่วนที่ถูกเปิดผิวหน้าขึ้นจะเห็นเม็ดหินที่เป็นส่วนผสมของชั้นสีด้านใน สร้างให้เกิดลวดลายที่คงทนกว่าการพ่นสีทั่วไป และทำให้มีผิวที่หยาบขึ้น ทำให้ไม่ลื่น ทำความสะอาดง่าย เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทางทุกคน


เปิดความหมายกระเบื้องปูพื้น ลายดอกโบตั๋น สื่อถึงอัตลักษณ์แห่งเยาวราช	ภาพจาก : กรุงเทพมหานคร

 ● กทม. ไม่ได้เพิ่งปรับปรุงทางเท้าเยาวราชเพราะกระแส MV ฮิตของลิซ่า


 สำหรับงานปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้าถนนเยาวราช ช่วงวงเวียนโอเดียนถึงคลองโอ่งอ่าง พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่มกราคม 2567 ที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 ทั้งนี้ ที่การก่อสร้างค่อนข้างใช้ระยะเวลาดำเนินการมาก เนื่องจากต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการวางท่อประปาและการวางท่อร้อยสายสื่อสารด้วย โดย กทม. ใช้วิธีการปรับปรุงเป็นช่วง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้งานในพื้นที่ โดยเฉพาะกิจกรรมค้าขายที่มีผู้ใช้งานอย่างหนาแน่นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีการดำเนินการปรับปรุงทางเท้าในเส้นทางดังนี้


1. ถนนเยาวราช ช่วงจากวงเวียนโอเดียน ถึงคลองโอ่งอ่าง (กำลังดำเนินการ)

2. ถนนจักรวรรดิ์ ถนนเจริญกรุงถึงสะพานพระปกเกล้า (แล้วเสร็จ 90%)

3. ถนนทรงวาด ช่วงถนนราชวงศ์ถึงถนนเจริญกรุง (รอประมูล)

4. ถนนตรีมิตร (แล้วเสร็จ 100%)

5. ถนนมังกร (แล้วเสร็จ 100%)

6. ถนนผดุงด้าว (แล้วเสร็จ 100%)

7. ถนนเจริญกรุง จากสะพานคลองผดุงถึงแยกหมอมี (รอเซ็นสัญญา)


 อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณลิซ่า ที่ปลุกเยาวราชให้ลุกเป็นไฟไปทั่วโลก กทม. เตรียมความพร้อมในทุกมิติเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามา และเชื่อว่าทางเท้าปรับปรุงใหม่นี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตและทำมาค้าขายอยู่ในเยาวราช

เปิดความหมายกระเบื้องปูพื้น ลายดอกโบตั๋น สื่อถึงอัตลักษณ์แห่งเยาวราช	ภาพจาก : กรุงเทพมหานคร


 ● ทางเท้าลายดอกโบตั๋นพร้อมส่งแรงกระเพื่อม กระตุ้นความคึกคักให้คลองโอ่งอ่าง วางแผนเปลี่ยนฝาบ่อเป็นลวดลายอัตลักษณ์ต่อไป


 ถนนเยาวราช ความยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่วงเวียนโอเดียน และสิ้นสุดย่านวังบูรพา ซึ่งเป็นช่วงคลองโอ่งอ่าง จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการพัฒนาทางเท้าเยาวราชมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านคลองโอ่งอ่าง ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ชื่นชอบคลองโอ่งอ่าง จะได้ประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนาเส้นเลือดฝอยในครั้งนี้


 กทม. ย้ำเสมอว่า เราไม่ทิ้งคลองโอ่งอ่าง แต่เพื่อให้การพัฒนาย่านเป็นไปอย่างยั่งยืน นอกจากโปรแกรมส่งเสริมเศรษฐกิจ อาทิ การจัดเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลลอยกระทง เทศกาลดิวาลี เทศกาลสงกรานต์ หรือการจับมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว กทม. จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมกันด้วยเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงย่านได้ง่ายขึ้น เช่น พัฒนาสวนสาธารณะใต้สะพานพระปกเกล้า ทางเดินเลียบคลองโอ่งอ่าง เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน และคลองบางลำพู ตลอดจนการปรับปรุงทางเท้าถนนเยาวราช ก็จะช่วยให้คนเข้าถึงคลองโอ่งอ่างได้ง่ายขึ้นผ่านการเดินเท้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะย่าน


 “ทางเท้าเยาวราชวิถีใหม่ลายดอกโบตั๋นนี้ ไม่เป็นเพียงแค่การปรับปรุงทางเท้าเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวแทนที่สะท้อนตัวตนสื่อถึงอัตลักษณ์ของชาวเยาวราช ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่คำนึงถึงความต้องการของทุกคนในสังคม ทั้งนี้ ในอนาคตจะไม่ใช่แค่เปลี่ยนกระเบื้องเป็นลายดอกโบตั๋นเท่านั้น แต่กรุงเทพมหานครได้วางแผนเปลี่ยนฝาบ่อระบายน้ำภายในย่านเป็นแบบใหม่ ด้วยลวดลายอัตลักษณ์ที่ผ่านการออกแบบโดยภาคประชาสังคมและศิลปินเลื่องชื่อ เพื่อตอกย้ำความเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนที่ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน” โฆษก กทม. กล่าว



ข่าวแนะนำ