TNN ห้วยขาแข้งปิดท่องเที่ยวหอดูสัตว์ เร่งจับนกยูงอินเดีย สกัดผสมข้ามสายพันธุ์นกยูงไทย

TNN

สังคม

ห้วยขาแข้งปิดท่องเที่ยวหอดูสัตว์ เร่งจับนกยูงอินเดีย สกัดผสมข้ามสายพันธุ์นกยูงไทย

ห้วยขาแข้งปิดท่องเที่ยวหอดูสัตว์ เร่งจับนกยูงอินเดีย สกัดผสมข้ามสายพันธุ์นกยูงไทย

"ห้วยขาแข้ง" ประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก หลังพบ "นกยูงอินเดียสีขาว" เดินหากินร่วมกับ "นกยูงไทย" และ มีความห่วงใยจากผู้เชี่ยวชาญหากมีการผสมข้ามพันธุ์กับนกยูงไทยจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งออกประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก หรือ หอนกยูง หลังจากที่เพจกลุ่มดูนกมีผู้บันทึกภาพ "นกยูงอินเดียสีขาว" กำลังเดินหากินร่วมกับนกยูงไทย และ ทางผู้เชี่ยวชาญเรื่องนก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ "หมอหม่อง" โพสต์แสดงความกังวล หากมีการผสมข้ามพันธุ์กับนกยูงไทยจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ทำให้นกยูงไทยสูญเสียความเป็นนกยูงไทยแท้


ประกาศดังกล่าวออกมาตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน หลังรับทราบถึงเรื่องดังกล่าว และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตรวจพบนกยูงสายพันธุ์อินเดียและนกยูงที่คาดว่าเป็นสายพันธุ์ผสม บริเวณที่หอดูสัตว์โป่งช้างเผือก หากินร่วมกับนกยูงสายพันธุ์ไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบหากเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างนกยูงสองชนิด เมื่อพิจารณาแล้ว และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ จึงได้ประสานงานกับนายสัตวแพทย์และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เร่งดำเนินการค้นหาและเคลื่อนย้ายนกยูงสายพันธุ์อินเดียและนกยูงที่คาดว่าเป็นสายพันธุ์ผสมออกจากพื้นที่ จึงประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก โดยจะปิดไปจนกว่าจะดำเนินการเรียบร้อย



ห้วยขาแข้งปิดท่องเที่ยวหอดูสัตว์ เร่งจับนกยูงอินเดีย สกัดผสมข้ามสายพันธุ์นกยูงไทย



ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยความคืบหน้าในการดำเนินการว่า จนถึงขณะนี้ (26 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับนกยูงอินเดียสีขาวในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งได้ เนื่องจากนกยูงตัวเล็กมีความว่องไว จับยาก เข้าใกล้นิดเดียวก็บินหนีแล้ว ซึ่งการพบนกยูงอินเดียสีขาวในพื้นที่ น่าจะเป็นการเล็ดลอดหลุดเข้ามาหากินรวมกับนกยูงพันธุ์ไทยในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งมาสักพักแล้ว และพบว่ามีลูกนกออกมา 2 ตัว เป็นสายพันธุ์ผสม หรือ ไฮบริด โดยตัวหนึ่งสีขาว อีกตัวสีเหมือนนกยูงไทย ซึ่งการผสมพันธุ์ได้เป็นไฮบริดออกมาจะกลายเป็นนกยูงที่อ่อนแอ และจะถ่ายทอดความอ่อนแอสู่นกยูงไทย จะเกิดปัญหาทางสายพันธุ์สำหรับนกยูงในพื้นที่ เรื่องนี้จึงไม่สามารถปล่อยไปได้ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถจับนกยูงได้เร็ว ๆ นี้


ด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีสัตว์ต่างถิ่นเล็ดลอดสู่ธรรมชาติ ว่า "นอกจากนกยูงอินเดีย ยังมีกระต่ายบ้าน และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ที่เป็นพันธุกรรมแปลกปลอม นำโรค และที่สำคัญสัตว์พวกนี้ มักเอาตัวรอดไม่ค่อยได้ ถ้าคิดจะปล่อยเพราะทำบุญ มันคือบาปอย่างแรง ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้ง และขอให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบสัตว์เลี้ยงในพื้นที่อนุรักษ์ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เหมือนเคสนกยูงอินเดียนี้ ดีมาก ๆ เลยครับ"



ข้อมูล : เฟซบุ๊ก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง , เฟซบุ๊กภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพ : เฟซบุ๊ก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ข่าวแนะนำ