เปิด 7 กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดวัคซีนป้องกันภาวะแทรกซ้อน-เสียชีวิต
ไข้หวัดใหญ่ระบาดเพิ่มขึ้น ปีนี้พบผู้ปวยแล้ว 1.8 แสนราย เสียชีวิต 14 ราย แนะกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนป้องกันเสียชีวิต
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และความเสี่ยงในการเสียชีวิต ซึ่งช่วงฤดูฝนของทุกปีมักพบการแพร่ระบาดของโรคสูง ซึ่งได้แก่
1. เด็กเล็ก อายุ 6 - 2 ปี
2. ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี
3. หญิงตั้งครรภ์
4. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ
5.ผู้พิการทางสมอง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
6.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย
7.โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 100 กก. มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กก./ตร.ม.
โดยกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิงหาคม 2567 (ปีละ 1 ครั้ง)
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคฯ ของกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 20 มิถุนายน 2567 มีรายงานผู้ป่วย 186,900 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 14 ราย พบในจังหวัดนครราชสีมา 5 ราย นครศรีธรรมราช 2 ราย ชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี กรุงเทพมหานคร สุโขทัย สมุทรปราการ ภูเก็ต และกาฬสินธุ์ จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในประเทศไทยเฉพาะพื้นที่ (Sentinel Surveillance) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 - 16 มิถุนายน 2567 โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จำนวน 2,284 ราย พบว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A/H3N2 จำนวน 1,044 ราย (ร้อยละ 45.71) ชนิด B จำนวน 619 ราย (ร้อยละ 27.10) ชนิด A/H1N1 (2009) จำนวน 594 ราย (ร้อยละ 26.14) และชนิด A ไม่ระบุสายพันธุ์ จำนวน 24 ราย (ร้อยละ 1.05)
ข่าวแนะนำ