‘สมรสเท่าเทียม’ สู่สถานีต่อไป World Pride 2030 ให้ไทยเป็นพื้นที่แห่งการแสดงออกส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ
‘สมรสเท่าเทียม’ สู่สถานีต่อไป World Pride 2030 เป็นโอกาสให้ประเทศไทยแสดงศักยภาพเป็นพื้นที่แห่งการแสดงออก ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพให้กับคนทุกเพศ
ภายหลังการประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ … ) พ.ศ. … หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระ 2-3 โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนน 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง โดยมีผู้ลงมติทั้งหมด 152 เสียง
ทั้งนี้ มีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง เนื่องจาก กฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับนี้สามารถใช้บังคับได้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน
พรรคเพื่อไทย ระบุผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ผ่านวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการประกาศใช้ ยังมีพ.ร.บ. อื่น ๆ ที่กำลังเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร คือผลงานสำคัญที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศให้เกิดขึ้นจริง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญให้ความหลากหลายทางเพศผลิบานแบบเท่าเทียมกับเพศอื่นในสังคมไทย และเป็นการส่งต่อไปยังโอกาสสำคัญ นั่นคือการเป็นเจ้าภาพงาน World Pride 2030 ที่รัฐบาลไทยต้องการให้เกิดขึ้นได้จริง
World Pride คือเทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศที่มีความสำคัญในระดับโลก จัดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2540 และจัดขึ้นในทุก 2 ปี การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้ง กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ สถานที่จัดงาน และความเป็นมิตรกับชุมชนแห่งความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ
พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมที่มีโอกาสจะได้ประกาศใช้ภายในปีนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่แสดงว่าประเทศไทยยอมรับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เราพร้อมแล้วที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนทุกเพศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการแก้ไขและร่างกฎหมายสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศเพิ่มเติมอีกหลายหลายฉบับ
การเป็นเจ้าภาพงาน World Pride จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยส่งผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่าง ธุรกิจแฟชั่น , ผับบาร์สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ, การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในไทย ถือเป็นการปักหมุดหมายเการท่องเที่ยวไทยยุคใหม่ ให้ประเทศไทยเป็น สวรรค์ของความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องมาเยือน
World Pride 2030 ไม่ใช่เพียงความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของคนไทยและกลุ่ม LGBTQ+ เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้ประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนแสดงศักยภาพการเป็นพื้นที่แห่งการแสดงออก ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพให้กับคนทุกเพศ รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธิและความหลากหลายทางเพศในระดับบุคคล ชุมชนและสังคม ให้กับคนในภูมิภาคนี้อีกด้วย
เมื่อกฎหมายผ่านเรียบร้อยแล้ว จะเป็นแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งของสังคมไทย ที่ทั้งมอบสิทธิ ให้พื้นที่และยอมรับเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีสิทธิ์ มีศักดิ์ศรีอย่างที่ควรมี พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโอกาสใหญ่ระดับโลกอย่าง World Pride 2030
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ