TNN เตือน 10 อันดับข่าวปลอมได้รับความสนใจมากสุด แนะเช็กให้ชัวร์ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์

TNN

สังคม

เตือน 10 อันดับข่าวปลอมได้รับความสนใจมากสุด แนะเช็กให้ชัวร์ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์

เตือน 10 อันดับข่าวปลอมได้รับความสนใจมากสุด แนะเช็กให้ชัวร์ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์

ดีอีเตือน 10 อันดับข่าวปลอมได้รับความสนใจ เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน มากสุด ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ แนะเช็กให้ชัวร์ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน” รองลงมาคือเรื่อง “ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน


นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,865  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 230 ข้อความ


สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 182 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 37 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Website จำนวน 9 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 175 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 110 เรื่อง

            

ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย


กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 77 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 39 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 7 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 31 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 21 เรื่อง

             

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รองลงมาเป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่


อันดับที่ 1 : เรื่อง  เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน

อันดับที่ 2 : เรื่อง ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

อันดับที่ 3 : เรื่อง เพจ Thailand International Airport Center เปิดรับสมัครงาน รายได้ 10,000 บาท/สัปดาห์

อันดับที่ 4 : เรื่อง เปลี่ยนมิเตอร์ดิจิทัล ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันที

อันดับที่ 5 : เรื่อง คันตามผิวหนังเพราะมีก๊าซเน่าเสียในลำไส้ กระตุ้นเซลล์ในร่างกายให้หลั่งฮิสตามีน

อันดับที่ 6 : เรื่อง รับสมัครคนพับถุงกระดาษ รายได้ 500-2,500 บาทต่อวัน/สัปดาห์

อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัคร Part time พับถุงกาแฟ

อันดับที่ 8 : เรื่อง 9 สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อันดับที่ 9 : เรื่อง  กินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู

อันดับที่ 10 : เรื่อง ความชื้นในอากาศสูง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยระบายลมออกจากรูขุมขนยาก            

             

จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ถึง 5 อันดับ และรองลงคือ เรื่องการรับสมัครงาน โดยส่วนใหญ่รูปแบบของการแนะนำด้านสุขภาพที่ผิด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันข่าวการหลอกลวงสร้างอาชีพ หารายได้เสริม ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจผิด จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ นำไปสู่ความเสียหายที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

              

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบ ติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง”    




ภาพจาก AFP                       

ข่าวแนะนำ