TNN ‘เห็ดพิษ’ ภัยเงียบฤดูฝน หมอเตือนระวังก่อนบริโภค เสียชีวิตแล้ว 1 รายที่เลย

TNN

สังคม

‘เห็ดพิษ’ ภัยเงียบฤดูฝน หมอเตือนระวังก่อนบริโภค เสียชีวิตแล้ว 1 รายที่เลย

‘เห็ดพิษ’ ภัยเงียบฤดูฝน หมอเตือนระวังก่อนบริโภค เสียชีวิตแล้ว 1 รายที่เลย

‘เห็ดพิษ’ ภัยเงียบฤดูฝน หมอเตือนตรวจสอบให้ดีก่อนบริโภค ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 1 รายเป็นชาวจังหวัดเลย

จากกรณีเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีชาวบ้านหมันขาว ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พากันเข้าไปเก็บเห็ดใกล้กับภูลมโล แล้วนำมาประกอบอาหารรับประทาน หลังจากนั้นมีอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน นำส่งโรงพยาบาล 9 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเลย 1 ราย เนื่องจากตับและไตวายเฉียบพลัน 


ล่าสุดในวันที่ 3 มิ.ย. 2567 มีรายงานว่า  ชายอายุ 45 ปี  ชาวต.ลาดค่าง อ.ภูเรือ ได้เสียชีวิตจากสาเหตุลักษณะเดียวหลังจากรับประทานเห็ดเข้าไป ซึ่งผู้ป่วยรายนี่ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลเลย  ก่อนจะเสียชีวิตลงในที่สุด


พญ.รัศมีแข จงธรรม์ แพทย์อายุรกรรรม โรงพยาบาลเลย เปิดเผยว่าสถานการณ์ในจังหวัดเลย ตอนนี้มีผู้ป่วยที่มารักษาอาการด้วยเห็ดพิษเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน รวมทั้งผู้ป่วยที่ส่งตัวมาจากพื้นที่อำเภอโดยรอบในจังหวัดเลย ขณะนี้ 9 ราย และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก อยากฝากเตือนประชาชนที่เก็บป่าต้องตรวจสอบเห็ดให้ดี ซึ่งชนิดของเห็ดพิษในประเทศไทยมีหลากหลายชนิดด้วยกัน บางชนิดที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเห็ดกินได้ ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่


- กลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ เช่น เห็ดระโงกหิน หลังรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้จะไม่มีอาการในตอนแรก แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อผ่านไปแล้ว 4 - 6 ชั่วโมงเป็นต้นไป อาการเริ่มต้นคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นช้ามากกว่า 10 ชั่วโมงหรือข้ามวันไปแล้ว หลังจากมีอาการผ่านไป 2-3 วัน การทำงานของตับจะเริ่มแย่ลง เอนไซม์ตับสูงขึ้น มีภาวะตับอักเสบ หากรุนแรงอาจเกิดตับวายและเสียชีวิตได้


- กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น เห็ดเหลืองนกขมิ้น เห็ดถ่าน อาการเริ่มต้นคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยจะมีอาการเร็วภายใน 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน จากนั้นจะมีอาการของการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย รวมถึงปัสสาวะมีสีดำหรือสีโค้ก เนื่องจากมีของเสียในกล้ามเนื้อรั่วออกมาปนอยู่ในปัสสาวะ ในรายที่รุนแรงจะมีเกลือโพแทสเซียมที่รั่วออกมาจากกล้ามเนื้อมากจนมีหัวใจเต้นผิดจังหวะเสียชีวิตได้ นอกจากยังมีสารมัยโอโกลบินในกล้ามเนื้อรัวออกมาทำให้เกิดไตวายร่วมด้วย


- กลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดหัวกรวดครีบเขียว กลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร หลังรับประทานเกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยจะมีอาการเร็วภายใน 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน พิษจากเห็ดกลุ่มนี้จะไม่รบกวนอวัยวะในระบบอื่น ผู้ที่มีอาการรุนแรงสามารถเสียชีวิตได้เหมือนกับอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษที่รุนแรง ทำให้ขาดน้ำรุนแรง เกิดภาวะช็อคหรือความดันตกและเสียชีวิตได้


พญ.รัศมีแข จงธรรม์  กล่าวต่ออีกว่า การรักษาเมื่อรับประทานเห็ดพิษ หากเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หลังรับประทานเห็ดที่ไม่ได้ซื้อ จากแหล่งที่เชื่อถือได้นานกว่า 6 ชั่วโมงต้องระวังว่าเป็นเห็ดที่จะทำให้มีตับอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ แต่ถ้าหากเพิ่งรับประทานเห็ดไปไม่เกิน 6 ชั่วโมงแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาจรักษาตัวเองเหมือนอาการอาหารเป็นพิษก่อนได้ แต่ถ้าหากอาการรุนแรง เช่น รับประทานไม่ไหว ดื่มน้ำเกลือแร่ไม่ไหว ปัสสาวะมีสีเข้มหรือสีโค้ก ท้องเสียมาก อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์


วิธีการรักษาเบื้องต้น ได้รับพิษจากเห็ดซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นเห็ดชนิดใด หรือได้รับพิษจากสารชีวพิษกลุ่มใดพยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยการล้วงคอ หรือให้ทานไข่ขาว จากนั้นรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด


ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวจังหวัดเลย 

ภาพจาก:  ผู้สื่อข่าวจังหวัดเลย 

ข่าวแนะนำ