TNN เศรษฐกิจ - สังคมกดดัน พบคนไทยเป็นจิตเวชพุ่ง ‘ป่วยซึมเศร้า’ มากกว่าติดยา

TNN

สังคม

เศรษฐกิจ - สังคมกดดัน พบคนไทยเป็นจิตเวชพุ่ง ‘ป่วยซึมเศร้า’ มากกว่าติดยา

เศรษฐกิจ - สังคมกดดัน พบคนไทยเป็นจิตเวชพุ่ง ‘ป่วยซึมเศร้า’ มากกว่าติดยา

สภาพเศรษฐกิจ - สังคมกดดัน ‘คนไทยป่วยจิตเวชเพิ่ม’ ซึมเศร้ามากกว่าติดยา อัตราปลิดชีพตัวเองสูงใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

วันนี้ (27 พ.ค. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 58 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 66 ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล หลายประการ


แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน โดยระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 66-22 เม.ย. 67 พบผู้มีความเครียดสูงถึง 15.48% เสี่ยงซึมเศร้า 17.20% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา


ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คิด โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ


เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแล และเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด


นอกจากนี้ สภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมที่มีความกดดัน ส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ รวมกัน


เมื่อสำรวจข้อมูลการฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปีงบประมาณ 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)


สุดท้ายคือปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตภายใน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก


ข้อมูลจาก: สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ภาพจาก: Getty Images 

ข่าวแนะนำ