รัฐบาลห่วงประชาชนถูกหลอกออนไลน์ เดินหน้าปราบโจรไซเบอร์-กวาดล้างบัญชีม้า
รัฐบาลห่วงประชาชนถูกหลอกออนไลน์ เดินหน้าปราบโจรไซเบอร์จริงจัง เร่งกวาดล้างบัญชีม้า 1 แสนบัญชี/เดือน เร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย
วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงภัยคุกคามและการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำและสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าป้องกัน ปราบปราม อาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยีหรือการที่ประชาชนถูกหลอกลวงทางออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจริงจัง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมมือกันหาแนวทางเรื่องการกวาดล้างบัญชีม้าและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวง ดีอี ร่วมกับ ตร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์เป็นระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากระยะแรก 30 วัน (1-30 เมษายน 2567) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้มีการประชุมหารือร่วมกัน โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ คือ
1. การเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า โดย ปปง. ธปท. สมาคมธนาคาร กสทช. สมาคมโทรคมนาคมฯ และ ดีอี ร่วมดำเนินการ ดังนี้
(1) ขยายผลกวาดล้างบัญชีม้า จากการใช้ข้อมูลรายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคาร จากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยตั้งเป้าระงับ/ปิด บัญชีม้ามากกว่า 12,000 คนต่อเดือน หรือ 100,000 บัญชีต่อเดือน
(2) กำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยทาง ธปท.จะมีการออกประกาศภายในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งปัจจุบันบางธนาคารได้มีการดำเนินการแล้ว (3) การกวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้าในระบบ mobile banking ที่ประชุมมอบหมายให้ กสทช.เร่งรัดตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับระบบ mobile banking จำนวนประมาณ 106 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 120 วัน
2. การแก้กฎหมายพิเศษเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนช่วยเหลือคืนเงินให้ผู้เสียหาย ดังนี้
(1) การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการหาวิธีคืนเงินให้รวดเร็วขึ้น โดยพิจารณาการออกกฎหมายพิเศษเพื่อเร่งการคืนเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาการคืนเงินให้ผู้เสียหายจากคดีออนไลน์ ต้องใช้เวลานาน หลาย ๆ กรณี ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสามารถคืนเงินให้ผู้เสียหายได้ ประกอบกับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ทาง AOC 1441 โดย ดีอี ตร. สมาคมธนาคาร ได้ร่วมมือ เร่งการระงับ/อายัด บัญชีม้าได้รวดเร็วเฉลี่ยภายใน 10 นาที และมีเงินที่ถูกอายัดได้จำนวนมาก
(2) การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย
ผลการดำเนินการกวาดล้างบัญชีม้า 30 เม.ย. 2567 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 700,000 บัญชี แบ่งเป็น ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี AOC ระงับ 101,375 บัญชี ปปง.ปิด 325,586 บัญชี และ ตร. ดำเนินการการจับกุมคดี บัญชีม้า-ซิมม้า เม.ย. 67 มีจำนวน 361 คน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 187 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
นอกจากการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งการปราบปรามจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า ซิมม้า ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวง แก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์อย่างต่อเนื่องแล้ว นายกฯ ยังให้ความสำคัญกับการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการเตือนภัยออนไลน์ โดยให้นำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่มีสาระน่าสนใจ เข้าถึงประชาชนและกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะถูกหลอกลวง เพื่อการสร้างการตระหนักรู้ และให้ความรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ เพื่อป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ที่ยังสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง ตลอดจนปกป้องประชาชนให้พ้นจากเหล่ามิจฉาชีพด้วย
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ