TNN คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower

TNN

สังคม

คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower

คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower

ราว 35 ปีก่อน เด็กหญิงวัย 12 ปีคนหนึ่ง นั่งชมคอนเสิร์ต “กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย” หน้าจอโทรทัศน์ นานเกือบ 5 ชั่วโมงเต็มโดยไม่ลุกไปไหน ราวกับว่าเสียงเพลง ลีลานักร้องและหางเครื่องในจอทีวี เชื่อมหัวใจของเธอและเพลงลูกทุ่งให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

มาวันนี้เด็กหญิงตัวน้อยอยู่ในวัยตกผลึกทางความคิด โลดแล่นอยู่ในวงการนักร้อง นักแสดง ลิเกและนักวิชาการ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ครูโอ๋ หรือ ผศ. ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นหัวหน้าโครงการ “ลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล” โดยรับทุนสนับสนุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์จากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 2566  

กิจกรรมของโครงการดำเนินงานมาต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ปี 2566 และตระเวนไปทั้ง 4 ภาค “จัดประกวดหางเครื่อง”ควบคู่ไปกับการเสวนาย่อยเพื่อถอดบทเรียนและจัดการองค์ความรู้ที่ได้รับจากศิลปินลูกทุ่งของแต่ละภาคและเครือข่ายศิลปิน เป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปในการเข้าถึง รู้จัก อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ต่อยอดการเต้นหางเครื่อง นอกจากนี้ยังมีการผลิตสารคดีลูกทุ่ง 24 ตอน ผลิตหนังสือร้อยรสความทรงจำลูกทุ่งไทย และคอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย


คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower


คอนเสิร์ต “84 ปีลูกทุ่งไทย”ผู้ชมล้นหลาม

    คอนเสิร์ต “84 ปีลูกทุ่งไทย” เป็นฉากจบของโครงการซึ่งถือเป็นบันทึกหน้าสำคัญของวงการเพลงลูกทุ่ง เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งตรึงผู้ชมกว่า 1,700 คนไว้กับที่นั่งตลอดเวลากว่า 6 ชั่วโมงครึ่ง เหมือนกับเธอในอดีตเช่นกัน 

     “ตัวชี้วัดความสำเร็จของคอนเสิร์ตนี้ก็คือผู้ชมบอกว่าไม่อยากลุกไปห้องน้ำเลย บางคนดูคอนเสิร์ตทั้งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม ได้อรรถรสความเป็นลูกทุ่งอย่างครบถ้วน ทีมงานจึงคลายกังวล เพราะทีแรกห่วงว่าคอนเสิร์ตหลายชั่วโมงจะนานเกินไป”

     ครูโอ๋เล่าอย่างติดตลก แม้การทำงานกับนักดนตรี นักร้อง หางเครื่องและนักแสดง ทั้งหมดร่วม 200 ชีวิต บนเวทีคอนเสิร์ตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่เธอเป็นทั้งนักวิชาการและศิลปิน ทำให้เธอวางสถานะดอกเตอร์ไว้ด้านล่าง แล้วขึ้นเวทีทำหน้าที่พิธีกร ด้วย DNA คนลูกทุ่งทั้งตัวและหัวใจ อ่อนน้อม และเข้าถึงจิตวิญญาณของศิลปินที่อยากมอบความสุขให้ผู้ชม 

     “เราโตมากับเพลงลูกทุ่ง พ่อขับรถให้วงดนตรี สดใส รุ่งโพธิ์ทอง กับแสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ แม่พาไปหลังโรงลิเกตั้งแต่เด็ก เราจึงยกย่องศิลปิน ใช้ทักษะความเป็นมนุษย์และความจริงใจในการทำงานร่วมกัน เบื้องหลังเวทีคอนเสิร์ต 84 ปีฯ คือ ความงดงามของศิลปินที่มีความนอบน้อม ฝากตัวเป็นครูเป็นศิษย์ และออกแบบงานร่วมกันโดยไม่มีสังกัด”


คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower


แนวคิดสู่กิจกรรมพร้อมสร้างเครือข่าย 

     ก่อนจะมาถึงความสำเร็จในวันนี้ เธอผ่านบททดสอบมาหลายครั้ง ตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนตั้งแต่ปี  2562 โดยปั้นโครงการ 80 ปีลูกทุ่งไทยและเสนองานเพียงลำพัง ซึ่งไม่ผ่านการพิจารณา ในการเขียนโครงการครั้งที่ 2 จึงได้พี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญการเขียนโครงการ ทำให้งานถูกออกแบบอย่างเป็นระบบ ครบถ้วนทั้งเนื้อหาและแนวทางปฏิบัติ และยังได้ เคน สองแคว นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง มาช่วยประสานงานขอเรื่องลิขสิทธิ์เพลงให้ และในที่สุดโครงการฯ ก็ได้รับการอนุมัติ

     “คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทยได้รับความเมตตาจากครูเพลง ศิลปิน  และผู้สนับสนุนอย่างกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พร้อมร่วมด้วยช่วยกัน ถ้าไม่มีคนมหัศจรรย์ลงใจ ลงแรงมาช่วยกัน ไม่มีทางเป็นไปได้” 

     คอนเสิร์ตถูกออกแบบอย่างประณีต ร้อยเรียงเรื่องราวตามประวัติศาสตร์เพลงและสังคมไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน สื่อถึงประเพณีนิยมและความร่วมสมัย 

     “เบื้องต้นทีมงานเลือกเพลงเอาไว้ 200 กว่าเพลง แต่ละเพลงมีคุณค่าจนไม่อยากคัดออก สุดท้ายจึงต้องโหวตกันทั้งน้ำตาจนเหลือ 70 เพลง โดย 15 เพลงแรกเป็นการเชิดชูศิลปินผู้ล่วงลับทั้งผู้ร้องและผู้ประพันธ์ และขับร้องโดยทายาทของศิลปิน เช่น บทเพลงของราชินีเพลงลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ขับร้องโดยน้องสาวทั้งสองคือ สลักจิตและจันทร์จวง ดวงจันทร์ นอกจากนี้ยังมีการจับคู่ร้องเพลงระหว่างศิลปินรุ่นใหม่กับรุ่นอาวุโส เพื่อให้เห็นภาพของการส่งต่อรุ่นสู่รุ่น และมีภาคของเพลงประกอบภาพยนตร์ และทำนองเพลงเอเชีย เช่น อินเดีย จีน” 

     คอนเสิร์ตเต็มไปด้วยไฮไลท์ที่เรียกเสียงกรี้ดจากผู้ชมอย่างไม่ต้องพัก เมื่อ “หนึ่ง จักรวาล” มาร่วมบรรเลงเปียโน ให้ “ผ่องศรี วรนุช” ศิลปินแห่งชาติและราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย ครวญเพลงกอดหมอนนอนหนาว “สุทิน ดวงเดือน” สีไวโอลินเพลงหนาวลมที่เรณู ขับร้องโดย “สลา คุณาวุฒิ” 

     ศิลปินที่สะกดผู้ชมได้ทั้งฮอลล์อย่าง “ชาย เมืองสิงห์” ศิลปินแห่งชาติ ฉายา แมนซิตี้ไลอ้อน  มาร้องเพลงมาลัยดอกรัก และที่พีคมากๆ ก็คือผู้ชมร่วมประสานเสียงร้องเพลง โปรดเถิดดวงใจ คลอไปกับเสียงแอคคอร์เดียน ของ “เชิงชาย บัวบังศร” 

     อีกช่วงที่เรียกเสียงกรี้ดได้นานที่สุดคือ “ภัทราวดี มีชูธน” ศิลปินแห่งชาติ มาเซอร์ไพรส์คนดูขับขานบทเพลง จดหมายจากเมียเช่า ซึ่งเป็นการแสดงกึ่งมิวสิคัลชุดคนในมุมมืด ส่งต่อให้ “พรชัย พรหมบัญชา” ในเพลงน้ำตาบ๋อย และปิดท้ายที่ “สุนารี ราชสีมา” ในเพลงพาร์ทเนอร์เบอร์ 5 ซึ่งสะท้อนภาพสังคมไทยผ่านเพลงลูกทุ่ง ซึ่งความหม่นมัวของสังคมไทยบนความบันเทิงนี้ เป็น โพรเจกต์ที่เธอเตรียมนำเสนอต่อวงการละครที่ประเทศฟิลิปปินส์ต่อไป

    คอนเสิร์ตนี้ยังทำให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของหางเครื่อง โดยมีหางเครื่องรุ่นแรกที่เป็นลูกศิษย์ของ สุรพล สมบัติเจริญ ในวัย 75-76 มาปรากฏตัวประกบภาพอดีตของตัวเองในวัยแตกเนื้อสาว อายุ 14-15


คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower


      “พี่ๆ หางเครื่องช่วยสร้างความงดงามและทรงพลัง ช่วงเพลงลูกทุ่งกับภาพยนตร์ เมื่อขึ้นเพลง อยากกินคนสวย มีการเซิ้งและเล่นลาวกระทบไม้ ซึ่งจำลองมาจากฉากของหนังเป็นภาพที่งดงามมากๆ  มีขบวนแห่นาค ขบวนตุงสัญลักษณ์ภาคเหนือในเพลงแว่วเสียงซึง มีโนราห์จากภาคใต้ ทำให้เห็นว่าทุกการเต้นของหางเครื่องเมื่อใส่ความประณีตลงไป จะเป็นการแสดงที่มหัศจรรย์ มีทั้งความมันส์ สวย พร้อมเพรียงและมีเรื่องราว นักแสดงตลกก็เป็นส่วนสำคัญบนเวทีลูกทุ่ง ทำให้เห็นความร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันบนเวที”

ต่อยอดสร้าง หนุนสร้าง soft power 


คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower


แม้คอนเสิร์ตจะปิดฉากไปแล้ว แต่ดอกผลยังคงเบ่งบาน โดย วง Soi 48 ซึ่งเป็นวงลูกทุ่งหมอลำชาวญี่ปุ่น ได้ร่วมเผยแพร่ภาพคอนเสิร์ตและติด #84ปีลูกทุ่งไทย เกิดแนวคิดการผลิตชุดความรู้เรื่อง “หางเครื่องวิทยา” เพื่อนำเสนออย่างเป็นระบบในเชิงวิชาการต่อไป เพลงลูกทุ่งจะถูกต่อยอดเป็น world music ไม่ใช่เป็นเพียงท่วงทำนองพื้นบ้านที่เล่าเรื่องชนบทอีกต่อไป โดยเก็บข้อมูลจากผับทั่วโลกที่เปิดเพลงลูกทุ่งและหมอลำ รวบรวมศิลปินต่างชาติที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลงลูกทุ่งและหมอลำไปสร้างสรรค์งานเพลงของตนเอง อีกทั้งแผ่นเสียงลูกทุ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ดนตรีทั่วโลก ขณะที่สถานีวิทยุจุฬาฯ เชิญทีมงานไปผลิตรายการ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราววงการลูกทุ่งทั้งอดีตและปัจจุบัน และสารคดีโทรทัศน์ 24 ตอนที่ผลิตเสร็จแล้วเตรียมออกอากาศ ปิดท้ายที่การผลิตหนังสือร้อยรสความทรงจำ 84 ปี ลูกทุ่งไทย และหนังสือบันทึกความทรงจำคอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย 


คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower


     ในฐานะนักวิชาการเธอฝันถึงวันที่เมืองไทยจะมีพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ลูกทุ่งไทย ที่รวบรวมผลงาน เช่น แผ่นเสียง ชุดหางเครื่อง ซึ่งสอดคล้องกับที่ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงการส่งเสริมเพลงลูกทุ่ง บนเวทีคอนเสิร์ตครั้งนี้ว่า ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้ให้การสนับสนุนโครงการฯ ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับสังคม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงประเด็นการสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรม (Soft Power) “โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล” จากการริเริ่มสร้างสรรค์ของ ผศ. ดร.สุกัญญา กองทุนพัฒนาสื่อฯ มุ่งหวังว่า โครงการนี้จะช่วยพัฒนา ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน และก่อให้เกิดความตระหนักถึงการสืบสานวัฒนธรรมผ่านบทเพลงลูกทุ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต สภาพสังคม อุดมคติ และวัฒนธรรมไทย มีท่วงทำนอง คำร้อง สำเนียง ลีลาการร้อง การบรรเลงเพลงที่เป็นแบบแผนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขอชื่นชมและขอบคุณทีมงานทุกท่านทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ศิลปิน ครูเพลง ที่ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ อนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ผลงานเพลงลูกทุ่งไทย ให้กระแสเพลงลูกทุ่งฟื้นคืนชีพในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้เกิดกระแสเพลงลูกทุ่งผ่านมิติเชิงศิลปะการขับร้องเพลงและดนตรีให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศผ่านมิติวัฒนธรรมหรือ soft power ให้ยิ่งใหญ่ต่อไป 


คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower


คอนเสิร์ต 84 ปีลูกทุ่งไทย ความพยายามส่งต่อวัฒนธรรมสู่ SoftPower

ข่าวแนะนำ