"ใช้จ่ายระวัง-อย่าสร้างหนี้" ย้อนสถิติเงินฝากลดลงในรอบ 10 ปี เปิดปัจจัยทำคนไทยฐานะแย่ลง
"ใช้จ่ายระวัง-อย่าสร้างหนี้" ย้อนสถิติเงินฝากลดลงในรอบ 10 ปี นโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาล สถาบันไม่ได้เอาข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณา เนื่องจากไม่มีภาพรวมการรวมเงินฝากทุกบัญชีโดยไม่ระบุชื่อบัญชี
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนส.ค. 66 อยู่ที่ 15.96 ล้านบาท ลดลง 212,688 ล้านบาทจากปีก่อน เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่การเติบโตของจำนวนเงินฝากลดลง -1.32% YTD จากภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งมีการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่า และคาดว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง
ประชาชนต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ไม่สร้างหนี้เกินไป
อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 67 สถานการณ์เงินฝากจะดีขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของ GDP ในประเทศจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งไทยมีการเติบโตของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ผลประกอบการของภาคบริการจะฟื้นตัว รวมทั้งกิจกรรมที่รัฐบาลที่กำลังผลักดัน อาทิ ฟรีวีซ่าในหลายประเทศ และการชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศรวมทั้งการจับคู่ธุรกิจ จะทำให้รายได้ของประเทศสูงขึ้น ในขณะเดียวกันภาคประชาชนต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ไม่สร้างหนี้เกินไป ซึ่งเชื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีขึ้นของไทย
ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37% โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด 1 ล้านบาท ยังคงสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98.09% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ
ตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา เริ่มเห็นจำนวนเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากเริ่มน้อยลง
จากสถิติเงินฝากตั้งแต่ปี 2562 – ส.ค. 2566 พบว่า ถึงแม้จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาทจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในเดือน ส.ค. 2566 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.45% หรือประมาณ 81 ล้านราย หรือมากกว่า 80% ของจำนวนผู้ฝาก แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ปี 2565 -0.63% และในเดือนส.ค. 2566 -3.61% สะท้อนว่าจำนวนคนที่มีเงินน้อยมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่โควิดเป็นต้นมาเริ่มเห็นจำนวนเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากเริ่มน้อยลง
ในขณะที่ผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการปรับตัวลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนักจึงต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้ หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้ อย่างไรก็ตามการคุ้มครองเงินฝากยังสามารถคุ้มครองได้ดีขึ้น ทั้งนี้การเติบโตของจำนวนผู้ฝากเงิน ส่วนที่เป็นบัญชีม้าจะลดลงจากความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ในการเปิดบัญชีเงินฝาก
นอกจากนี้การลดลงของตัวเลขเงินฝากมาจากหลายปัจจัย รวมทั้งการนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีผลตอบแทนที่ดีอื่น อาทิ ทองที่ราคาพุ่งสูง หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารหนี้ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เงินไหลไปสู่สินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งรวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์บางแห่งเพิ่มผลิตภัณฑ์ฝากเงินสกุลต่างประเทศ เช่น สกุลเงิน US ดอลลาร์ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 5% ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ 2% แต่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและสถาบันไม่ได้ให้ความคุ้มครองสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด
“ทั้งนี้การเติบโตของเงินฝาก ส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับการเติบโตของ GDP ในประเทศ ซึ่งปัจจุบัน GDP ของไทยไม่ได้เติบโตมากนัก รวมทั้งปริมาณเม็ดเงินไหลออกค่อนข้างสูง ราคาทองคำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง มีส่วนทำให้เงินฝากโดยรวมมีคู่แข่งและมีการโตที่ลดน้อยลง”
อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเงินฝากคือพฤติกรรมการใช้เงิน ปัจจุบันมีการสนับสนุนในเรื่องของการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy now Pay later) เป็นการก่อหนี้ ซึ่งหากการก่อหนี้เพื่อสร้างรายได้เป็นประเด็นที่ไม่น่ากังวลแต่การก่อหนี้เพื่อทำให้เกิดการใช้จ่าย ไม่ทำรายได้จะก่อให้เกิดภาวะที่กำลังซื้อ หรือความสามารถในการใช้จ่ายในอนาคตลดลง
ในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ซี่งคาดว่าปัญหาจะต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี โดยเป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยนอกประเทศ ได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อ-อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ แต่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะคงที่แล้วแต่ต้องติดตามเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และในตะวันออกกลาง ซึ่งกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ก็มีทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยการนำเข้าสินค้าอาจทำได้ยากขึ้น แต่การส่งออกของตลาด อาหารแปรรูป อาจจะมีจำนวนมากขึ้น
จากการติดตามสถิติเงินฝากและปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ทำให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) ในหลายเรื่อง รวมถึงการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดความเข้าใจถึงการบริหารจัดการและแนวทางในการกอบกู้สถานการณ์เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงิน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินเกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด ซึ่งในมุมมองของประเทศเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาสถาบันการเงินอย่างประเทศอื่นที่เกิดในอดีตอย่างแน่นอน เนื่องจากวิธีการในการประกอบธุรกิจและวิธีการในการกำกับดูแลแตกต่างกับประเทศอื่น
นอกจากนี้ สคฝ. ยังคงตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ฝากเงิน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและชำระบัญชี รวมถึงสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดีให้กับประชาชน ด้วยความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก โดยวางเป้าหมายการดำเนินงานปี พ.ศ. 2567 ที่สำคัญ อาทิ การประมวลผลข้อมูลผู้ฝากจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากให้มีความถี่ขึ้นและความร่วมมือกับธนาคารเฉพาะกิจในการเป็น Paying Agent, การเตรียมกระบวนการด้านชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์
รวมถึงการพัฒนาสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝากให้ครอบคลุมการแสดงบนช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล และรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ฝากและประชาชนมั่นใจในสถาบันการเงินที่ผู้ฝากใช้บริการและเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของประเทศ
Digital Wallet ของรัฐบาล ไม่ได้เอาข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณา
นายทรงพล กล่าวถึงนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาล ว่าสถาบันไม่ได้เอาข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณา เนื่องจากไม่มีภาพรวมการรวมเงินฝากทุกบัญชีโดยไม่ระบุชื่อบัญชี ซึ่งข้อมูลเชิงสถิติของสถาบันเป็นข้อมูลที่สะท้อนภาพใหญ่ของฐานะทางบัญชีของผู้ฝาก ซึ่งจากสถิติพบว่าคนทุกกลุ่มมีเงินน้อยลง โดยนโยบายการแจกเงินเป็นนโยบายที่แต่ละรัฐบาลก็พยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องดูกว่ากระตุ้นในส่วนไหน และส่วนไหนที่มีความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือมากกว่ากัน
สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 4.2) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก กอปรกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 34.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 24.6 ต่อปี ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 4.1)
ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 ถึง 5.4) ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 ถึง 4.5)
อย่างไรก็ดี การประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ในครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมผลกระทบของมาตรการเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
ภาพ TNNOnline / gettyimages