เปิดสถิติ “แบลงค์กัน” นำมาก่อเหตุสูงขึ้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมเปิดปฏิบัติการ ตรวจค้นเป้าหมาย 2,300 แห่งทั่วประเทศ แหล่งรับซื้อปืน โรงงานผลิตดัดแปลงแบลงค์กัน ขณะที่ ข้อมูลปี 2565 พบแบลงค์กัน ถูกนำมาก่อเหตุมากกว่า 1,000 คดี
พลตำรวจโทภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า “แบลงค์กัน” คือ ปืนจำลอง หรือโมเดลปืน ที่จำลองรูปแบบมาจากปืนจริง ไม่ได้เป็นอาวุธในทางกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย สามารถนำเข้าโดยผ่านขั้นตอนทางศุลกากร และในประเทศไทยมีแบลงค์กันจำนวนหลายพันกระบอก จำเป็นต้องหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมแบลงค์กัน
จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าตัวเลขคดีที่ใช้แบลงค์กันก่อเหตุทั่วประเทศ ปี 2563 กว่า 200 คดี , ปี 2564 ประมาณ 500 คดี, ปี 2565 กว่า 1,000 คดี และตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีคดีที่ใช้การใช้ในการก่อเหตุแล้วกว่า 700 คดี ซึ่งสถิติการใช้แบลงค์กันก่อเหตุสูงขึ้นทุกปี
จ่อค้น 2,300 เป้าหมาย แหล่งอาวุธปืน
ทั้งนี้ ตำรวจเตรียมเปิดแผนปฏิบัติการระดมกวาดล้างอาชญากรรมอาวุธปืน ซึ่งมีเป้าหมายกว่า 2,300 แห่งทั่วประเทศ ทั้งแหล่งรับซื้ออาวุธปืน โรงงานแหล่งผลิต และแหล่งดัดแปลงแบลงค์กัน โดยตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) จะเป็นผู้นำข้อมูลเป้าหมายส่งให้กับตำรวจภูธรภาค และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการระดมดวาดล้างตามแผนต่อไป
เปิดสถิติ “เด็ก-เยาวชน” กระทำผิด
อีกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาก คือ เด็กที่กระทำความผิดแล้วจะต้องรับโทษอย่างไร ซึ่งข้อมูลการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2565 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ 12,195 คน และเกินกว่าครึ่งของผู้กระทำความผิดอยู่ในระดับมัธยมศึกษา รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา นอกนั้นเป็นการศึกษานอกระบบ
สำหรับคดีที่พบมากที่สุดเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด คิดเป็นร้อยละ 40 ของคดีทั้งหมด รองลงมาเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ร้อยละ 14.99 และความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ร้อยละ 13.90
ส่วนการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ เด็กอายุ 12 - 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจส่งไปคุมประพฤติ เด็กอายุ 15 - 18 ปี หากศาลตัดสินลงโทษทางอาญา จะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เด็ก 18 - 20 ปี ศาลตัดสินลงโทษทางอาญาแบบผู้ใหญ่ แต่อาจลดโทษให้หนึ่งในสาม หรือกึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ระบุว่า พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ต้องรับผิดชอบโทษทางแพ่งร่วมด้วย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองได้ทำหน้าที่แล้ว