ปรับเกณฑ์ใหม่ จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ประหยัดงบรัฐหรือลดสวัสดิการประชาชน
เปิดเกณฑ์ใหม่ เบี้ยผู้สูงอายุ ปี 2566 ไม่ได้รับถ้วนหน้า ต้องผ่านการพิสูจน์ความจน รัฐประหยัดงบฯหรือลดสวัสดิการประชาชน
กลายเป็นประเด็นร้อนมีกระแสวิพากษ์วิจารย์จากหลายฝ่าย ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้าน หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา
เทียบหลักเกณฑ์เดิม เมื่อปี 2552 และ หลักเกณฑ์ใหม่ ปี 2566 จะพบว่าในรายละเอียดการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ในข้อที่ 1-3 มีรายละเอียดเหมือนกัน คือ ต้องมีสัญชาติไทย, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และลงทะเบียนและยื่นคำขอต่อองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
แต่ในข้อ 4 กลับมีรายละเอียดที่แตกต่างกันโดยหลักเกณฑ์เดิม ปี 2552 ระบุว่า ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรปกครองส่วนทิ้ง ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
ขณะที่ หลักเกณฑ์ใหม่ ปี 2566 ระบุว่า เป็นผู้มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
อย่างไรก็ตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ใหม่ ได้มีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล
ในข้อ 17 ที่ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพ อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป
และข้อ 18 ระบุว่าด้วยว่า ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุยังมิได้ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ใหม่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้คุณสมบัติเดิม ปี 2552 ไปพลางก่อนได้
สำหรับการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบันนี้ มีการรับเงิน แบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ ซึ่งภาครัฐจะโอนเงินให้ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน
-อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาท/เดือน
-อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 700 บาท/เดือน
-อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 800 บาท/เดือน
-อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท/เดือน
ย้อนดูประวัติเรื่องการจัดสวัสดิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้เริ่มเป็นรูปธรรมใน ปี 2536 จากแนวคิดของ กรมประชาสงเคราะห์ ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2535 – 2538 โดยเป็นการจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุ ที่มีฐานะยากจน เดือนละ 200 บาท นับเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดสวัสดิการ
ต่อมา ในปี 2549 ปีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 500 บาท ต่อเดือน หรือ ท้องถิ่นสามารถพิจารณาปรับเพิ่มได้แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน
และในปี 2552 ปรับแก้ให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า (หรือที่เรียกว่า นโยบายเบี้ยยังชีพอย่างถ้วนหน้า) ซึ่งเป็นการจัดสวัสดิการเงินบำนาญผู้สูงอายุที่อายุครบ 60 ปีขึ้นไปทุกคน ยกเว้นผู้สูงอายุที่ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปี 2565 ไทยมีผู้สูงอายุ 12.6 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนในทุกๆ ปี ดังนั้น ในปี 2566 ประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุอย่างน้อย 13.5 ล้านคน โดยเป็นผู้อายุที่รับเบี้ยยังชีพประมาณ 11 ล้านคน นอกนั้นเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มข้าราชการเกษียณ ที่รับเงินบำนาญ
จากข้อมูลที่รัฐต้องจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปี 2567 เกือบ 90,000 ล้านบาท จากปีก่อนหน้านี้ 50,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
สิ่งที่จับตานับจากนี้ ถือเป็นการวัดใจรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ว่าจะมีแนวนโยบายไปในทิศทางใด จะประหยัดงบประมาณรัฐ หรือ ลดสวัสดิการประชาชน
เรียบเรียงโดย
มัชรี ศรีหาวงศ์
ผู้ช่วยบรรณาธิการTNNข่าวเที่ยง