แจ้งความคนหาย! เปิดเอกสาร-หลักฐาน ที่ต้องใช้
แจ้งความคนหาย! เปิดระเบียบวิธีปฏิบัติกรณี "คนหาย" ทำอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
แจ้งความคนหาย! เปิดระเบียบวิธีปฏิบัติกรณี "คนหาย" ทำอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
คนหาย หมายถึง บุคคลที่หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่สามารถติดต่อได้หรือไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
แนวทางการปฏิบัติ
1. การแจ้งคนหายหรือแจ้งเบาะแสคนหาย
ประชาชนสามารถแจ้งคนหายหรือแจ้งเบาะแสคนหาย ที่สถานีตำรวจทั่วราชอาณาจักร หรือกองบุคคลสูญหายและศพนิรนาม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด กระทรวงยุติธรรม หรือศูนย์ดำรงค์ธรรมกระทรวงมหาดไทย หรือองค์กร/มูลนิธิต่าง ๆ เช่นมูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น
2. หน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านคนหาย
1. หน่วยงานที่รับแจ้ง ต้องดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่ามีศพนิรนามหรือคนนิรนาม ซึ่งเป็นบุคคลที่ญาติต้องการตามหาอยู่ที่ใด หากพบให้แจ้งญาติทราบเพื่อติดต่อยังหน่วยงานที่รับแจ้งศพนิรนาม หรือรับแจ้งคนนิรนามนั้นๆ
2. หน่วยงานที่รับแจ้งต้องตรวจสอบต่อว่าเคยมีการแจ้งคนหายรายดังกล่าวมาก่อนหรือไม่ เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนในการรับแจ้งคนหาย และประโยชน์ในการดึงข้อมูลเดิมมาดำเนินการต่อในการหายตัวครั้งล่าสุด เมื่อหน่วยงานที่รับแจ้งตรวจสอบจนมั่นใจแล้วว่า ไม่เคยมีการรับแจ้งคนหายรายนั้น ๆ มาก่อน ให้บันทึกข้อมูลลงในแบบแจ้งคนหาย (แบบ คพศ.1) พร้อมทั้งส่งแบบ คพศ.1 เอกสารที่เกี่ยวข้อง รูปถ่าย วัตถุพยาน และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรายละเอียดสามารถดูได้ในเอกสารแบบ คพศ.1 มายังสำนักงานโดยทันที และให้คำแนะนำผู้แจ้งให้ดำเนินการแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจด้วย
3. ให้พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้ง รีบแจ้งศูนย์วิทยุเครือข่ายในสังกัดและหน่วยข้างเคียง รวมทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อสกัดค้นตามด่านใกล้เคียงหรือจุดที่คาดว่าผู้ถูกล่อลวงลักพาจะผ่านไปโดยด่วน เป็นต้น รวมทั้งรีบดำเนินการสืบสวนติดตามคนหายโดยต่อเนื่องจนกว่าจะพบตัว
4. เมื่อสำนักงานได้รับแจ้งเรื่องคนหายจากหน่วยงานที่รับแจ้งแล้ว ให้ดำเนินการบันทึกข้อมูลลงสู่ระบบฐานข้อมูลกลางของ ค.พ.ศ. และดำเนินการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลตามระบบของ ค.พ.ศ. หากสามารถระบุตัวได้ให้ดำเนินการแจ้งผลกลับไปยังพนักงานสอบสวน เพื่อติดต่อญาติ หากยังพิสูจน์ไม่ได้ให้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยส่งข้อมูลรูปถ่ายและข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลเบื้องต้นไปยังภาคประชาสังคมเพื่อดำเนินการเผยแพร่สู่สาธารณชน
ทั้งนี้หากมีการดำเนินการใดๆ หรือมีข้อมูลเพิ่มเติม ให้หน่วยงานที่รับแจ้งหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรายงานมายังสำนักงาน และหากสำนักงานมีการดำเนินการใดๆ หรือมีข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานต้องรายงานไปยังหน่วยงานที่รับแจ้งหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการติดตามคนหาย ความสมบูรณ์ของฐานข้อมูล และทราบถึงสถานภาพของคนหายรายนั้นๆ
5. เมื่อพนักงานสอบสวนพบตัวคนหายแล้ว และสามารถติดต่อญาติและส่งตัวคนหายคืนญาติได้แล้ว ให้ดำเนินการบันทึกข้อมูลลงในแบบแจ้งคนหายได้คืน (แบบ คพศ.5) กลับมายังสำนักงานโดยทันที เพื่อดำเนินการปิดการดำเนินการ
หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ
เอกสารของผู้แจ้ง
-บัตรประจำตัวประชาชน (หรือ)
-บัตรประจำตัวข้าราชการ (หรือ)
-หนังสือเดินทาง (กรณีคนต่างชาติ)
-สำเนาทะเบียนบ้าน
เอกสารเกี่ยวกับคนหาย ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
-สำเนาบัตนประจำตัวประชาชน
-สำเนาทะเบียนบ้าน
-ภาพถ่ายคนหาย (ภาพที่ถ่ายไว้ล่าสุด ,มองเห็นชัดเจน)
-ใบสำคัญทางราชการ เช่น ใบเกิด,ใบสำคัญทหาร (ใบกองเกิน, กองหนุน) (ถ้ามี)
รับแจ้งคนหาย : ศูนย์ประชาบดี โทร 1300
ศูนย์ข้อมูลคนหาย : มูลนิธิกระจกเงา โทร 1900-190-199 , 0807752673
ที่มา สำนักงานเลขานุการของ ค.พ.ศ. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ / police.go.th
ภาพจาก AFP