ค้นพบไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส"
"มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" ไทยค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ตัวที่ 13 ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กค้นพบจากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์
"มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" ไทยค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ตัวที่ 13 ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กค้นพบจากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์
จากก้อนหินหินขนาดเล็กที่ถูกโคลนพอกไม่อยู่ในสายตาและคัดทิ้งไว้ในแหล่งขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยด้วยความบังเอิญและช่างสังเกตของทีมสำรวจนักบรรพชีวินวิทยาจึงหยิบกลับขึ้นมาศึกษากลายมาเป็นนักวิ่งตัวจ้อยแห่งภูน้อย “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis)
ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก กลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค้นพบที่ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือจูแรสซิกปาร์คเมืองไทย ในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย (150 ล้านปี) ตัวแรกของประเทศไทย และเป็นไดโนสาร์สายพันธุ์ไทยตัวแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์
ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ หนึ่งในทีมนักวิจัยอธิบายที่มาของการค้นพบครั้งนี้ว่า กรมทรัพยากรธรณีทำงานร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส ด้านการสำรวจแหล่งขุดค้นภูน้อยมาตลอด ซึ่งทำให้ค้นพบตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์จำนวนมาก
สำหรับไดโนเสาร์ตัวที่ 13 นี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการศึกษาระดับปริญญาเอกซึ่ง ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์เป็นที่ปรึกษาร่วม โดยผู้วิจัยได้นำตัวอย่างมาให้พิพิธิภัณฑ์สิรินธรอนุรักษ์เพิ่มเติม นำหินที่ปิดทับซากดึกดำบรรพ์ออกโดยใช้ปากกาลม เพื่อให้เห็นลักษณะกระดูกมากขึ้น แม้จะใช้เวลานานในการเตรียมตัวอย่างและการศึกษาวิจัยถึง 5 ปี แต่เมื่อเห็นรายละเอียดของกระดูกแต่ละชิ้นเพิ่มเติมจึงสามารถระบุชนิดสายพันธุ์ออกมาได้
“ชิ้นนี้ที่นิสิตได้นำมาศึกษาวิจัยได้ก่อนเป็นเป็นชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุดที่พบในแหล่ง เป็นโครงกระดูกที่เกือบเต็มทั้งตัว ต่อเนื่องกันตั้งแต่กระดูกสันหลัง ซี่โครงครบทุกซี่ สะบัก กระดูกเชิงกราน และขาหลัง ที่เชื่อมต่อกัน แล้วก็มีกระดูกฝ่ามือ และเมื่อกรอเอาหินออกเพิ่ม เราก็เห็นกระดูกมากขึ้น เช่น ส่วนที่เป็นกะโหลกกระดูกแก้ม กระดูกส่วนขากรรไกร และฟัน และแสดงลักษณะเด่นเพิ่มเติม ส่วนตัวอย่างอื่นที่ใช้มาอ้างอิงร่วมด้วยก็จะมีกระดูกกรามล่าง กระดูกหน้าแข้ง ฝ่าตีนจรดกรงเล็บของตัวที่ใหญ่กว่าตัวอย่างต้นแบบ ซึ่งเราเจอไปก่อนหน้านี้หลายปี เราจึงมี มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ตัวเล็กและตัวใหญ่อีกตัว หลังจากนำไปเปรียบเทียบกับกระดูกของไดโนเสาร์ในกลุ่มใกล้เคียงกันที่เคยเจอมาก่อนในโลกนี้ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่มีลักษณะใกล้กันมาก และด้วยภูมิศาสตร์บรรพกาลที่เชื่อมต่อกัน เราพบลักษณะเด่นที่ต่างกัน ทีมวิจัยจึงบอกได้ว่าตัวที่พบที่ภูน้อยเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก” ดร.พรเพ็ญ อธิบายเพิ่มเติม
สำหรับไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยกลุ่มออร์นิธิสเชียนที่ค้นพบมาก่อนหน้านี้ทั้ง ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ สยามโมดอน นิ่มงามมิ ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ และสิรินธรนา โคราชเอนซิส อยู่ในหมวดหินโคกกรวด ยุคครีเตเชียสตอนต้น อายุประมาณ 115 ล้านปี ส่วนมินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ที่พบในหมวดหินภูกระดึงในยุคจูแรกสิกตอนปลายอายุ 150 ล้านปี จึงเป็นไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ขณะนี้
ทั้งนี้ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยเป็นพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 1,200 ตารางเมตร ขนาดเท่าสนามบาสเกตบอลสามสนาม บนภูเขาหินตะกอนลูกเล็กที่อยู่ตามแนวเทือกเขาภูพาน ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ หมวดหินภูกระดึง ตั้งแต่เริ่มการขุดค้นอย่างเป็นระบบเมื่อปี 2551 หน้าดินค่อยๆ ถูกเปิดออกทีละน้อย จนเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี ตั้งแต่ผิวดินไล่ขุดลึกลงไปเกือบ 5 เมตร มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ทั้งฟันขนาดเล็กเพียงไม่กี่มิลลิเมตร จนถึงกระดูกขนาดใหญ่ยาวเกือบ 2 เมตร จากการขุดค้นของทีมสำรวจพิพิธภัณฑ์สิรินธร และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปัจจุบันมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์พืชและสัตว์มากกว่า 5,000 ขึ้น มีการศึกษาแล้วพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด ได้แก่ ฉลามน้ำจืด อะโครดัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Acrodus kalasinensis) ปลานักล่า อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichthys lertboosi) ปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนน์เคมเป (Ferganoceratodus annekempae) เต่า ภูน้อยคีลีส ธีรคุปติ (Phunoichelys thirakhupti) และ กาฬสินธุ์นีมีส ปราสาททองโอสถถิ (Kalasinemys prasarttongosothi) จระเข้ อินโดไซโนซูคัส โปตาโมสยามเอนซิส (Indosinosuchus potamosiamensis) และ อินโดไซโนซูคัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Indosinosuchus kalasinensis) และยังคงดำเนินการศึกษาวิจัยตัวอย่างอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
ผลการวิจัยในครั้งนี้มีความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก กลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียนในยุคจูแรสสิกและเป็นหลักฐานแสดงถึงความหลากหลายชีวภาพของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยที่ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 และกำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์รวมถึงเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยของนักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
รู้จักแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยเพิ่มเติม ได้ที่หนังสือ คู่มือนักเล่าเรื่อง ภูน้อย หุบเขาไดโนเสาร์ไทย https://www.dmr.go.th/.../10/article_20180827120959-1.pdf และ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ฉบับที่ 2 https://online.anyflip.com/kera/chlp/mobile/
ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี
ภาพจาก กรมทรัพยากรธรณี