TNN ปล่อยปลา-สัตว์น้ำอย่างไรให้ได้บุญ? ไม่ทำลายระบบนิเวศ สายมูต้องรู้

TNN

สังคม

ปล่อยปลา-สัตว์น้ำอย่างไรให้ได้บุญ? ไม่ทำลายระบบนิเวศ สายมูต้องรู้

ปล่อยปลา-สัตว์น้ำอย่างไรให้ได้บุญ? ไม่ทำลายระบบนิเวศ สายมูต้องรู้

ปล่อยปลา-สัตว์อย่างไรให้ได้บุญ? เสริมดวงชะตาและสะเดาะเคราะห์ แต่ไม่ทำลายระบบนิเวศ สายมูต้องรู้

ในช่วงวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลพิเศษต่างๆ พุทธศาสนิกชนมักนิยมทำบุญด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกันเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะเป็นการสร้างบุญกุศลครั้งใหญ่ และเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสัตว์น้ำที่เลือกปล่อยบางชนิด ถูกปล่อยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น เช่น ปลาซัคเกอร์ ปลาดุกบิ๊กอุย เต่าญี่ปุ่น หรือเต่าแก้มแดง ตะพาบใต้หวัน ฯลฯ ส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านี้ เมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแล้วจะรุกรานพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นของไทย จนทำให้บางชนิดอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งยังทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติอีกด้วย


กรมประมง จึงออกคำแนะนำให้ทำการปล่อยพันธุ์ปลาไทยในการทำบุญ โดยมีวิธีในการปล่อยอย่างถูกต้อง และไม่ทำลายระบบนิเวศ ดังนี้


1 ปลาตะเพียน/ ปลาตะเพียนทอง/ ปลากระแห/ ปลาสร้อยขาว/ ปลากาดำ/ ปลาซ่า ควรปล่อยในแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นแหล่งน้ำไหล เนื่องจากเป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนสูง

2. ปลาช่อน/ ปลาดุกอุยหรือดุกนา/ ปลาหมอไทย ควรปล่อยในลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก และมีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่ง

3. ปลาไหล ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะ และกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เนื่องจากปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัย

4. กบ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ จึงไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ ควรหาที่นา หรือคลองที่มีกอหญ้าหรือพันธุ์ไม้น้ำ เพราะกบก็จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย

5. ปลาสวาย/ ปลาบึก ควรปล่อยลงในแม่น้ำลำคลองที่มีระดับน้ำลึก และกระแสน้ำไหลแรง เพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต

นอกจากนี้ ในการปล่อยสัตว์น้ำ ยังต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของสัตว์น้ำ และสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่จะนำไปปล่อยด้วย เนื่องจากสัตว์น้ำแต่ละชนิด มีนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสรอดให้กับ


สัตว์น้ำที่ได้เลือกนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมีข้อควรคำนึง ดังนี้


1. คุณภาพของน้ำที่เอื้อต่อการอาศัยของสัตว์น้ำ โดยก่อนปล่อยสัตว์น้ำ ควรสังเกตสีน้ำในแหล่งที่ปล่อยต้องมีสีไม่ดำ หรือเขียวเข้มจัด เพราะเป็นน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ หากปล่อยลงไปจะทำให้สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้

2. คุณภาพของสัตว์น้ำที่ปล่อย ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพดี สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแผลตามลำตัว หากปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นโรคลงไปในแหล่งน้ำ จะเป็นการแพร่ขยายเชื้อโรคสู่ธรรมชาติ

3. ควรปล่อยลูกปลาขนาดเล็ก ไม่ควรปล่อยปลาขนาดใหญ่ที่ซื้อมาจากตลาด เนื่องจากปลาหน้าเขียงส่วนใหญ่เป็นปลาเลี้ยงที่ได้ขนาดบริโภคแล้ว หากปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีลักษณะแตกต่างจากบ่อเลี้ยง จะปรับตัวได้ยาก ทำให้โอกาสในการรอดมีน้อย

4. ช่วงเวลาในการปล่อยสัตว์น้ำ ควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะหากปล่อยสัตว์น้ำในที่มีแสงแดดจัด อาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน และอาจตายได้

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขอให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการทำบุญ โดยไม่ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด และหันมาปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยที่กรมประมงแนะนำแทน ซึ่งนอกจากจะไม่ทำลายระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้บุญเต็มร้อย เพราะการปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทย ถือเป็นการช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย


ปล่อยปลา-สัตว์น้ำอย่างไรให้ได้บุญ? ไม่ทำลายระบบนิเวศ สายมูต้องรู้


ปล่อยปลา-สัตว์น้ำอย่างไรให้ได้บุญ? ไม่ทำลายระบบนิเวศ สายมูต้องรู้


ข้อมูลจาก  : กรมประมง 

ภาพจาก : TNN ONLINE 

ข่าวแนะนำ