เครือข่าย "ครู-ผู้ปกครอง-ชุมชน" หนุนหลักสูตรการเล่นที่ "ใครๆ ก็ทำได้"
เครือข่าย “ครู-ผู้ปกครอง-ชุมชน” หนุน “หลักสูตรการเล่น” ที่ “ใครๆ ก็ทำได้” สู่วิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ตำบลปางมะผ้า
ณ บ้านปางคาม ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของชาวไทยภูเขาหลายชนเผ่าทั้ง ที่อยู่ไกลเมืองใหญ่แต่ความห่างไกลไม่ได้เป็นข้อจำกัด ขัดขวางโอกาสการเรียนรู้ของเด็กๆ เพราะที่ชุมชนแห่งนี้ได้นำเอาวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาหลอมหลวมเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยอายุ 2-4 ปีผ่านการ “หลักสูตรการเล่น”
“หลักสูตรการเล่น” เป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดขยายผลจากกิจกรรมการ “เล่นอิสระ” ที่ “ครูเล็ก” พัชรา รักสัตย์สัญญา นำการเล่นมาใช้เป็นเครื่องมือในจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุขเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยของ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปางคาม” ซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย “เล่นเปลี่ยนโลก” ที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) โดยการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“การออกแบบการเรียนการสอนหรือวิธีจัดการเล่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปางคาม ไม่มีสูตรตายตัว ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ และจัดการเล่นตามความสนใจของตัวเด็กเอง ทำให้เด็กมีความสุข ครูก็สอดแทรกเรื่องราวในหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ เข้าไปในกิจกรรมนั้น พร้อมอำนวยความสะดวกในการเล่น และดูแลความปลอดภัยให้กับเด็กๆ” ครูเล็ก พัชรา เล่าถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้
เพราะการสื่อสารในชีวิตประจำวันของเด็กใช้ภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธ์เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ภาษาไทย “ครูเล็ก” จึงเริ่มประยุกต์ใช้ “การเล่น” เข้าไปแก้ปัญหาเรื่อง “การสื่อสารภาษาไทย” ผ่านการจัด “กิจกรรม เล่น เรียนรู้ สู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย” จนได้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best Practice ระดับปฐมวัยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เพราะเชื่อมั่นว่าทุกพื้นที่ในชุมชน ทุกมุมของบ้าน สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่และเรื่องราวให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ ทางคณะครูของตำบลปางมะผ้า จึงรวมตัวกันจัดกิจกรรมอบรมผู้ปกครองในวันแรกรับบุตรหลานเข้าเรียน โดยเชิญทีมแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็กมาเป็นวิทยากรปูพื้นฐานความคิด เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการเล่นที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการและสมองของเด็ก พร้อมกับชักชวนให้ผู้ปกครองที่มีความพร้อมมาร่วมกันเป็น Play Worker
“ถ้าลูกอยากเล่นอะไรก็จะคอยช่วยจัดหาอุปกรณ์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเล่นให้ และจัดมุมเล่นอิสระในบ้าน ทำให้น้องบุญกล้าคิด กล้าคุย กล้าแสดงออก ช่างสังเกต ช่างถาม มีน้ำใจ มีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ดีใจมากเมื่อพบว่าน้องบุญมีพัฒนาการดีสมวัย” เมขิ่น ฉิ่งต่า แม่ของน้องบุญ” วัย 4 ขวบ เด็กที่มีโรคประจำตัวมาตั้งแต่เกิดทำให้มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ระบุถึงข้อดีของการเล่น
นอกจากการขยายพื้นที่สนับสนุนการเล่นให้เกิดขึ้นในครอบครัวแล้ว “ครูเล็ก” ยังขยายผลออกไปถึงชุมชน โดยชักชวนคณะกรรมการ ศพด.และผู้ปกครองของเด็ก รวบรวมสื่อการเล่นตามภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่าง “เมื่อตอนวัยเยาว์ได้เล่นอะไรบ้าง?” แล้วนำกลับมาทำให้เด็กๆ ได้ทดลองเล่นอีกครั้ง ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทั้งผู้ปกครอง สมาชิกในชุมชน ในการทำของเล่นต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างมีความสุข แถมยังเป็นการสร้างเครือข่าย Play Worker ในชุมชนไปพร้อมๆ กัน
ผลสำเร็จของการเรียนรู้ผ่านการเล่นโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ และการขยายพื้นที่การเล่นอิสระลงไปยังครอบครัวและชุมชน จนเกิดเป็น “เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกตำบลปางมะผ้า” ทำให้องค์ความรู้ดังกล่าวได้รับการต่อยอดพัฒนาไปสู่ “หลักสูตรการเล่น” ที่ได้หลอมรวมนโยบายของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมาผนวกเข้ากับการเล่นอิสระ โดยปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้า ได้ขยายผลนำหลักสูตรการเล่นไปใช้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 6 แห่งในพื้นที่
“การเล่น” ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีความสุขสนุกสนาน แต่การเล่นนั้นมีพลังสร้างสรรค์อย่างมากมาย สามารถเชื่อมร้อยไปกับการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย จึงอาจกล่าวได้ว่า เด็กสร้างการเล่น แล้วการเล่นก็กลับมาช่วยสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาครบสมบูรณ์ในทุกด้าน
ที่มาข้อมูล: TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN