ขับขี่-จอดรถ "บนทางเท้า" จับจริง ปรับจริง แจ้งเบาะแสได้เลยที่นี่!
เปิดโทษ ขับขี่-จอด "บนทางเท้า" กทม.ลั่นจับจริง ปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท ต้องการแจ้งเบาะแสคลิกเลยที่นี่
เปิดโทษ ขับขี่-จอด "บนทางเท้า" กทม.ลั่นจับจริง ปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท ต้องการแจ้งเบาะแสคลิกเลยที่นี่
การขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า นอกจากจะเป็นความผิดในคดีจราจรทางบกแล้ว ยังเป็นความผิดคดีอาญาด้วย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 (7) กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วยหรือคนพิการ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400 - 1,000 บาท ตามมาตรตรา 157
ในส่วนของคดีอาญานั้น การขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า มีโทษปรับถึง 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 17(2) กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจอดรถหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามาตรา 56
โดยผู้แจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้าต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดแล้ว ประชาชนที่แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่งค่าปรับเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามมาตรา 48 วรรคสาม ประกอบมาตรา 57
ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ระบุเน้นย้ำการจัดระเบียบทางเท้า โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ตรวจตราและกวดขันผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน จอดหรือขับขี่รถบนทางเท้า ตามมาตรการ “จับจริง ปรับจริง” ตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 มาตรา 17(1) และ 17(2) ประกอบมาตรา 56 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท และหากฝ่าฝืนไม่ชำระค่าปรับก็จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
กรณีพบตัวผู้กระทำผิด
- ยินยอมเปรียบเทียบปรับ แต่ไม่ชำระค่าปรับ ภายใน 15 วัน
- ไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ
กรณีไม่พบตัวผู้กระทำผิด
- หากออกหนังสือเชิญพบ (2 ครั้ง) ไม่มาพบในกำหนดเวลา
ทั้งนี้ กทม. จะรวบรวมพยานหลักฐานส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี
ช่องทางแจ้งเบาะแส
หากพี่น้องประชาชนพบเห็นผู้ที่ฝ่าฝืนจอดรถ แจ้งได้ที่ลิ้งก์ www.bangkok.go.th/reward , http://203.155.220.179/reward หรือสแกน QR Codeได้เลย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร 0 2465 6644
ที่มา กทม./กระทรวงยุติธรรม
แฟ้มภาพ TNN Online