“วิกรม กรมดิษฐ์” ประกาศมอบทรัพย์สินกว่า 2 หมื่นล้าน ให้มูลนิธิอมตะ
“วิกรม กรมดิษฐ์” ประกาศมอบสินทรัพย์ส่วนตัวกว่า 2 หมื่นลบ.เข้ามูลนิธิอมตะ พร้อมยืนยันไม่ลงเล่นการเมือง
วันนี้ (17 มี.ค. 66) นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) และประธานมูลนิธิอมตะ เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 นับเป็นวาระสำคัญของการวางแผนชีวิตเพื่อส่งต่อความมั่นคงต่อการดำเนินงานของมูลนิธิอมตะอย่างไม่สิ้นสุด จึงได้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนตัวให้กับมูลนิธิอมตะมูลค่ากว่า 95% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร คอนโดมิเนียม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนทรัพย์สินส่วนตัวอื่นๆ มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง อันจะนำไปสู่หนึ่งในกลไกการยกระดับคุณภาพสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย
มูลนิธิอมตะได้ก่อตั้งเมื่อ 27 ปีที่แล้วโดยคุณวิกรม กรมดิษฐ์ มีโครงการภายใต้วัตถุประสงค์ เช่น โครงการรางวัล "นักเขียนอมตะ", โครงการทุนเรียนดี, โครงการประกวดศิลปกรรม "อมตะ อาร์ต อวอร์ด" โครงการด้านนวัตกรรม, โครงการหนังสือดีมีประโยชน์สร้างการเปลี่ยนแปลง และโครงการปรับปรุงอุทยานเขาใหญ่สู่อุทยานมาตรฐานโลกภายในเวลา 10 ปี
"ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นสู่ธุรกิจ ผมยึดมั่นในเป้าหมาย All Win และความมุ่งมั่นของการทำแต่สิ่งดีงามให้ไว้กับทุกคนมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อประสพความสำเร็จในธุรกิจการงานแล้วก็ควรแบ่งผลกำไรกลับคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพน่าอยู่เช่นประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งผมได้นำประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่วัยเด็กมาเรียบเรียง มาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วกว่า 11.6 ล้านเล่ม เพื่อให้สังคมสามารถเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ได้ในโอกาสต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น" นายวิกรม กล่าว
ดังนั้นการทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินในครั้งนี้ นับเป็นความตั้งใจของผมหลังจากที่ได้เรียนรู้ ฝึกฝนชีวิตกับวิกฤติต่างๆ จนขับเคลื่อนให้ธุรกิจกลุ่มอมตะประสบความสำเร็จในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองนวัตกรรมเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ด้วยแนวคิดที่เห็นว่าตัวเองเกิดมาจากศูนย์และจากไปเป็นศูนย์ ระหว่างศูนย์ควรสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์และคุณค่าฝากไว้ให้กับสังคมในระยะยาวตลอดไป
สำหรับโลกในระยะต่อไปยังคงมีความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ทุกฝ่ายรวมทั้งกลุ่มอมตะจำเป็นต้องปรับตัวรองรับ โดยอมตะได้วางเป้าหมายการพัฒนาภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะอมตะ (AMATA Smart City) เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจที่สอดรับอนาคตการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งเน้นนวัตกรรมที่ทันสมัย ขณะที่มูลนิธิอมตะพร้อมแบ่งปันให้กับสังคมไทยในช่วงสถานการณ์ยากลำบาก เช่น ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด พวกเราชาวอมตะได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบความช่วยเหลือ รวมทั้งยังจัดทำโครงการบริจาคโลหิต 100 ล้านซีซีกับสภากาชาดไทย เชื่อว่าจากนี้ไปไม่ว่าจะกี่วิกฤติก็พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสังคมเพื่อก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างยั่งยืนตลอดไป
ด้านการบริหารงานใน AMATA จะปรับบทบาทของตัวเองมาเป็นที่ปรึกษา ที่ให้คำแนะนำ รวมถึงการวางนโยบายของบริษัท เห็นไปในทิศทางที่เหมาะสมกับ AMATA ที่ควรจะไป พร้อมกับการปรับภาพลักษณ์ของธุรกิจให้ไม่ติดภาพการเป็นธุกิจครอบครัว ที่มีคนนามสกุลกรมดิษฐ์ เข้ามาบริหารงาน แต่จะเปิดทางให้คนที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถที่เป็นมืออาชีพเข้ามาบริหารในการขับเคลื่อนการเติบโตของ AMATA แทน เพราะภายนอกบริษัทยังมีคนเก่งที่มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งพร้อมเป้ดทางให้คนเก่งจากข้างนอกมาร่วมบริหาร ส่วนคนในครอบครัวจะทำงานเป็นกรรมการ หรืออยู่ในบอร์ด เพื่อดูในเรื่องนโยบายและให้คำปรึกษาแทน
ทั้งนี้ยืนยันว่าตนเองไม่ได้เข้าไปเล่นการเมือง เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองไม่มีความถนัด และไม่ได้สนใจ แต่หากภาครัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐขอคำปรึกษาในเรื่องการพัฒนาและเสริมศักยภาพให้กับเศรษฐกิจไทย ยินดีที่จะให้คำปรึกษา เพราะมองว่านโยบายที่สำคัญในการเข้ามาทำงานของรัฐบาลชุดใหม่มองว่าการผลักดันเศรษฐกิจให้มีการเติบโตสูง 7-8% เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสร้างศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาให้กับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ แต่เป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยบทบาทของกระทรวงที่สำคัญในการผลักดันประเทศไทย มี 2 กระทรวง คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพจาก : มูลนิธิอมตะ