TNN EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'

TNN

สังคม

EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'

EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'

ภายหลัง ‘น.ส.สาวิกา ไชยเดช’ หรือ ‘พิ้งกี้’ ดารานักแสดงชื่อดัง และเป็นจำเลยที่ 7 คดีมหากาพย์ FOREX-3D แชร์ลูกโซ่พันล้าน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้มีคำสั่งอนุญาตปลดกำไล EM เนื่องจากความสะดวกในการรับงานแสดงและการเดินทาง ต่อมาศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตปลดกำไล EM ตามคำขอ

นักกิจกรรม ยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย ‘พิ้งกี้’


กรณีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ต้องหารายอื่น ประสงค์ยื่นศาลเพื่อขอถอดกำไล EM ตามรอยนักแสดงสาว โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 3 นักกิจกรรมซึ่งถูกเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์กำไลติดตามตัว (EM) ได้แก่ ‘น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว’ หรือ ลูกเกด ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ปทุมธานี เขต 3 และนักกิจกรรมทางการเมือง, ‘นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า และ ‘นายภาณุพงศ์ จาดนอก’ เดินทางไปเข้ายื่นคำร้องขอถอดกำไล EM ต่อศาลอาญา รัชดาฯ เช่นกัน


โดยการยื่นศาลขอถอดกำไล EM นักกิจกรรมล้วนอ้างเหตุผลสำคัญเกี่ยวกับประโยชน์ในการทำงานและเดินทาง เฉกเช่นกรณีของดาราสาวพิ้งกี้ ซึ่งล่าสุดวันที่ 2 ก.พ. 2566 ทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ระบุว่า ศาลได้อนุญาตให้ถอดกำไล EM เรียบร้อยแล้ว


EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'




รู้จัก “กำไล EM” มีไว้เพื่ออะไร? พร้อมเปิดเงื่อนไข เหตุผลใดจึงถอดได้


สำหรับ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว” (Electronic Monitoring) หรือ “EM” เป็น อุปกรณ์รับส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับชุดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการติดตามตัว รวมถึงการตรวจสอบความเคลื่อนไหว หรือตำแหน่งของผู้ถูกคุมประพฤติให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง อาทิ การห้ามออกหรือห้ามเข้าบริเวณที่กำหนด โดยอาจกำหนดช่วงเวลาด้วยก็ได้ 


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2561 เป็นต้นมา กระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรม เริ่มนำกำไล “EM” มาใช้เป็นเครื่องติดตามตัว และใช้แทนการวางหลักทรัพย์จำนวนมากสำหรับประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาและคดียาเสพติด เพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดีต่างๆ ได้


ทั้งนี้ สำหรับเงื่อนไขในการถอดกำไล EM นั้น เป็นนักโทษที่ขอความกรุณาแก่ศาล โดยพิจารณาจากความสะดวกในการเดินทาง หารายได้ และผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้าเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว หลังพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้


EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'


EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'



ชวนส่องโครงการเช่ากำไล EM ติดตามตัวนักโทษ 3 หมื่นเครื่อง วงเงิน 800 กว่าล้าน


ขณะที่งบประมาณโครงการเช่ากำไล EM นั้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2563 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบโครงการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ EM ติดตามตัวนักโทษ แทนการลงโทษจำคุก จำนวน 30,000 เครื่อง วงเงิน 877.26 ล้านบาท เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยการเช่า EM พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำผิดตามที่กรมคุมประพฤติกำหนด ครอบคลุม 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1. ผู้ถูกคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 

2. ผู้ต้องราชทัณฑ์ นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักการลงโทษ หรือได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามที่กฎหมายกำหนดไว้

3. ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545


ความกังวลที่จะเกิดขึ้น หากถอดกำไล EM กับหลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์’


การถอดกำไล EM อาจทำให้เกิดกระแสความกังวลในการติดตามผู้ต้องหาในอนาคต แต่อีกด้านก็มีความเห็นแย้งว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรค 2 ที่ระบุว่า "ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” หรือเรียกว่า หลักการ presumption of innocence นั่นเอง ซึ่งเป็นการย้ำว่า ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ต้องปฏิบัติต่อผู้นั้นเหมือนเป็นผู้บริสุทธิ์ตลอดกระบวนการ จะปฏิบัติเหมือนกับผู้กระทำความผิดไม่ได้ 


สอดคล้องกับที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีการพูดในสภาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งระบุว่า กรอบที่กระทรวงสามารถทำได้โดยเร็ว นั่นคือ การปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้สอดคล้องกับหลักในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ คือให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีอาญา และการจับกุมหรือคุมขัง ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น


ดังนั้น ด้านหนึ่ง การใช้กำไล EM เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งนี้อาจเป็นเครื่องพันธนาการผู้ต้องหา ทำให้ถูกติดตามและใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้งที่ยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ก็ตาม


EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'

ภาพ กระทรวงยุติธรรม

ข่าวแนะนำ