เตือนภัย 7 ช่องทางมิจฉาชีพชอบใช้ส่งลิงก์ "หลอกดูดเงิน"
ตำรวจสอบสวนกลาง เตือนภัย 7 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ส่งลิงก์หลอกดูดเงิน มีอะไรบ้างเช็กด่วนเลย!
ตำรวจสอบสวนกลาง เตือนภัย 7 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ส่งลิงก์หลอกดูดเงิน มีอะไรบ้างเช็กด่วนเลย!
ตำรวจสอบสวนกลาง เผย ช่วงนี้ ลิงก์ปลอม หรือเว็บไซต์ปลอม กำลังระบาดเป็นอย่างหนัก ทำให้หลายๆ คนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ โดยลิงก์ปลอมจะถูกส่งตามช่องทางต่างๆ เข้ามาในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวผู้ใช้งานโทรศัพท์หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตความผิดปกติของลิงก์ที่ถูกส่งเข้ามา จนเผลอกดคลิกลิงก์ ดาวน์โหลดไฟล์อันตรายที่เสี่ยงต่อการดูดเงินโดยไม่รู้ตัว
ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ได้สรุปช่องทางที่มิจฉาชีพมักจะใช้ส่งลิงก์หลอกดูดเงิน จำนวน 7 ช่องทาง ดังนี้
1. SMS ปลอม มิจฉาชีพจะส่งลิงก์โดยมักอ้างว่า คุณได้รับสินเชื่อ คุณได้รับรางวัลจากกิจกรรม หรือหลอกลงทะเบียนรับสิทธิ ซึ่งจะหลอกให้กรอกข้อมูลและติดตั้งไฟล์ที่ไม่ประสงค์ไว้
2. ไลน์ปลอม มิจฉาชีพจะสร้าง LINE Official Account ปลอมขึ้นมา ใช้รูปโปรไฟล์ให้เหมือนกับของจริง อ้างเป็นตำรวจ ธนาคาร หรือหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน หลอกให้เหยื่อโอนเงิน หรือหลอกขอข้อมูล และให้กดลิงก์สูญเงินไปจำนวนมาก
3. อีเมล์ปลอม โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างชื่อบริษัท แจ้งให้ชำระใบแจ้งหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระเงิน และมีลิงก์ไปเว็บไซต์ปลอม หลอกให้กรอกข้อมูล และทำรายการชำระเงิน
4. เว็บไซต์ปลอม มักจะแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน หลอกให้ชำระค่าบริการต่างๆ และมักหลอกกดลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จนเงินหายหมดบัญชี
5. ลิงก์ใต้คอมเมนท์ หรือไวรัสโฮคส์ (Virus hoax) เป็นลิงก์ข่าว หรือคลิปวิดีโอ ที่สร้างชื่อหน้าเว็บลิงก์เหมือนสื่อหลัก เพื่อหลอกให้คิดว่าเป็นการแชร์ลิงก์ที่มีต้นตอมาจากสื่อหลักมีความน่าเชื่อถือ
6. โฆษณาบนสื่อโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ ซึ่งมีบางเว็บที่ไม่พึงประสงค์ใช้ในการหลอกล่อโฆษณาการพนัน และยิงแจ้งเตือนโฆษณา เพื่อหลอกให้คนหลงเชื่อกดลิงก์ รวมถึงลิงก์ที่ติดฝังมัลแวร์
7. แอปพลิเคชันที่ไม่ทราบแหล่งที่มา จะให้ดาวน์โหลดผ่านลิงก์ที่ส่งให้ ไม่ได้ดาวน์โหลดผ่านสโตร์ที่มีการตรวจสอบ เสี่ยงที่จะถูกหลอกติดตั้งแอปปลอมหรือแอปเลียนแบบกับแอปจริงให้คนหลงเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็น เเอปเงินกู้ แอปพนันและแอปหาคู่เถื่อน ที่คนหลงกลเป็นเหยื่อสูญเงินไปหลายราย
ภาพจาก AFP