TNN "ยื่นรับบำเหน็จบำนาญ" ตร.เตือนข้าราชการเกษียณ ระวังเว็บ-แอปฯปลอม

TNN

สังคม

"ยื่นรับบำเหน็จบำนาญ" ตร.เตือนข้าราชการเกษียณ ระวังเว็บ-แอปฯปลอม

ยื่นรับบำเหน็จบำนาญ ตร.เตือนข้าราชการเกษียณ ระวังเว็บ-แอปฯปลอม

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยข้าราชการเกษียณยื่นรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองให้ถูกช่องทาง ระมัดระวังเว็บไซต์ปลอม แอปพลิเคชันปลอม สวมรอยเป็นกรมบัญชีกลาง แนะ 9 แนวทางป้องกัน

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยข้าราชการเกษียณยื่นรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองให้ถูกช่องทาง ระมัดระวังเว็บไซต์ปลอม สวมรอยเป็นกรมบัญชีกลาง แนะ 9 แนวทางป้องกัน


พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยข้าราชการเกษียรยื่นรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองให้ถูกช่องทาง ระมัดระวังเว็บไซต์ปลอม แอปพลิเคชันปลอมของมิจฉาชีพที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงิน ดังนี้


ตามที่รอง โฆษกรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงถึงกรณี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้อำนวยความสะดวกให้กับข้าราชการ และลูกจ้างประจำที่พ้นราชการ เนื่องจากเกษียณอายุในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยสามารถยื่นคำขอรับบำเหน็จบำนาญล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ก่อนวันครบเกษียณอายุได้ 8 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป โดยสามารถยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญต่อส่วนราชการเจ้าสังกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Pension’ Electronic Filing) หรือ ระบบ e-Filing ผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน Digital Pension นั้น


ที่ผ่านมิจฉาชีพมักฉวยโอกาสสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับของจริง เพื่อหลอกลวงประชาชน ให้ประชาชนที่หลงเชื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน รวมถึงข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิต/เครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำชุดหมายเลขที่ได้ไปถอนเงินของเหยื่อออกจากบัญชี หรือไปแฮ็กบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต/เครดิตชำระค่าสินค้า หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น 


รวมไปถึงกรณีการส่งลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม ซึ่งฝังมัลแวร์มาดักรับข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของเหยื่อ เป็นต้น นอกจากเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอมแล้ว เหล่ามิจฉาชีพอาจหลอกลวงประชาชนในลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลางโทรเข้ามาหลอกลวงประชาชน ออกอุบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง


 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ


ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อลดความเสียหาย แจ้งเตือนประชาชนก่อนเกิดเหตุ


โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า มิจฉาชีพเหล่านี้จะเปลี่ยนเพียงแค่ชื่อเว็บไซต์ของหน่วยงาน แต่ยังคงใช้แผนประทุษกรรมในรูปแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นการใช้งาน หรือเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้


จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงเอาข้อมูล พร้อมแนวทางการป้องกัน ดังนี้

1. หากต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ (URL) ด้วยตนเอง ป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่อยู่ในช่วงอายุการยื่นคำขออาจจะไม่ทันระวัง ฝากบุตรหลานช่วยตรวจสอบให้ถูกต้อง

2. เพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์อย่างละเอียด มิจฉาชีพมักเลียนแบบให้มีลักษณะคล้ายกัน โดยเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางคือ www.cgd.go.th เท่านั้น

3.ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) หรือให้ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิงก์ที่มีคำว่า bit.ly

4. ควรกรอกข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามกลับไปหน่วยงานนั้นๆ โดยตรงผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ (Call Centre) และหากมีการให้ตั้งรหัส PIN จำนวน 6 หลัก ไม่ควรตั้งให้เหมือนกับรหัสธนาคารที่เราใช้อยู่ หากมีการขอข้อมูลที่ไม่จพเป็นให้สันนิษฐานว่ากำลังจะถูกหลอกลวง

5. หากผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลไปยังเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวแล้ว ให้รีบทำการเปลี่ยนรหัสผ่านทันที ทั้งเว็บไซต์หน่วยงานจริง อีเมล สื่อสังคมออนไลน์ รหัส PIN ธนาคารต่างๆ เป็นต้น

6.โดยปกติ หน่วยงานภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะติดต่อประชาชนทางโทรศัพท์หรือ การส่งข้อความสั้น (SMS) หากมีการติดต่อ ให้ขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อติดต่อกลับหน่วยงานนั้นๆ ด้วยตนเอง รวมไปถึงการเพิ่มเพื่อนทางไลน์ หรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

7. ติดตั้ง และหมั่นอัพเดทโปรแกรม Anti-Virus อยู่เสมอ และติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Google Play เท่านั้น

8. แจ้งเตือน และเผยแพร่ไปยังคนใกล้ตัว หรือผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

9. หมั่นคอยติดตามข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น และระมัดระวัง ไม่หลงเชื่อการส่งข้อมูลต่อๆ กันทางสื่อสังคมออนไลน์






ภาพจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. - CCIB / TNN Online

ข่าวแนะนำ