"ไข้เลือดออก" ระบาดหนัก! เพิ่มสูงขึ้นในปี 2566 พร้อมแนะวิธีกำจัดยุง
กรมควบคุมโรค เตือนแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออก-มาลาเรีย เพิ่มสูงขึ้นในปี 2566 พร้อมแนะให้กำจัดยุงอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงใช้สารเคมี หากมีอาการ ไม่ควรซื้อยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มารับประทานเอง ควรรีบพบแพทย์
คำเตือนจาก นายแพทย์ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย ข้อมูลจากรายงานในปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 45,145 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2564 ถึง 4.5 เท่า และยังมีตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตยืนยัน จำนวน 31 ราย
ส่วนโรคไข้มาลาเรีย ข้อมูลจากระบบมาลาเรียออนไลน์ในปี 2565 พบผู้ป่วยสะสม 10,174 ราย สูงกว่าปี 2564 ถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ส่วนใหญ่พบเป็นชาวต่างชาติ และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย
นอกจากนี้ ยังมีโรคติดต่อนำโดยยุงที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น คือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบผู้ป่วยสะสม 1,370 ราย มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปี 2564 ถึง สองเท่า ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสซิกาพบผู้ป่วยสะสม 66 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 20 ราย นอกจากนี้ยังพบทารกศีรษะเล็ก 1 ราย และโรคเท้าช้างพบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 4 ราย
ด้าน นายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยุงในประเทศไทยมีหลายชนิด แต่ที่พบเป็นพาหะนำโรค ได้แก่ ยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย ยุงเสือพาหะนำโรคเท้าช้าง และยุงรำคาญพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้างบางประเภท // หากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคติดต่อนำโดยยุง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยากินเองโดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย ยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้