เตือนร้านค้ากลโกงรูปแบบใหม่ที่ต้องระวัง ไม่อยากตกเป็นเหยื่อต้องรู้
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลเตือนร้านค้า กลโกงมิจฉาชีพรูปแบบใหม่ที่ต้องระวัง ไม่อยากตกเป็นเหยื่อต้องรู้
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลเตือนร้านค้า กลโกงมิจฉาชีพรูปแบบใหม่ที่ต้องระวัง ไม่อยากตกเป็นเหยื่อต้องรู้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงกรณีกลโกงรูปแบบใหม่ที่ต้องระวัง โดยระบุว่า เตือนร้านค้า...กลโกงรูปแบบใหม่ที่ต้องระวัง!!
ในโลกการเงินที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก ประชาชนหันมาใช้ digital payment มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด แน่นอนว่า ความนิยมนี้ย่อมเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพที่พยายามเข้ามาหลอกลวงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ใช่แค่ลูกค้าประชาชนเท่านั้น แต่เป้าหมายของภัยการเงินเหล่านี้ รวมถึงพ่อค้าแม่ขายด้วยเช่นกัน ร้านค้าจึงต้องติดตามและทำความเข้าใจกลโกงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรู้เท่าทันและระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ภัยใกล้ตัวสำหรับร้านค้ามีอะไรบ้าง มาดูกัน
สลิปปลอม...ดูให้ดีก่อนปล่อยสินค้าให้ลูกค้า
มิจฉาชีพอาจดัดแปลง ทำซ้ำภาพสลิป โดยใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันแต่งรูปบนโทรศัพท์มือถือ แล้วนำสลิปปลอมมาแสดงหรือส่งหลักฐานให้กับร้านค้า การป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสลิปปลอม คือ อย่าหลงเชื่อเพียงภาพสลิปที่ลูกค้าแสดง แต่ควรทำดังนี้
1. ใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร ร้านค้าควรใช้บริการแจ้งเตือนยอดเงินเข้า-ออกจากบัญชีของธนาคาร หรือตรวจสอบยอดเงินในบัญชีจากแอปพลิเคชันของธนาคารทุกครั้งที่เงินเข้า เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับเงินจากลูกค้าจริงตรงตามยอดที่ขาย
2. ใช้บริการจัดการร้านค้าของธนาคาร โดยเฉพาะในกรณีที่ร้านค้าออนไลน์มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก และมีการโอนเงินเข้าหลายรายการ บริการนี้มีระบบตรวจสอบสลิปและยอดเงินเข้าอัตโนมัติ ช่วยให้ร้านค้าสะดวก ประหยัดเวลา และลดขั้นตอนการตรวจสอบสลิปปลอม
3. สแกน QR code บนสลิปโอนเงินที่ต้องการตรวจสอบ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับร้านค้า ทำได้โดยเข้าไปที่แอปพลิเคชันของธนาคารที่เงินเข้า จากนั้นกด "สแกน QR code" ใช้กล้องโทรศัพท์สแกน QR code บนสลิปโอนเงินของลูกค้า หรือถ้ามีรูปสลิปโอนเงินอยู่ในโทรศัพท์อยู่แล้ว สามารถเลือกรูปสลิปที่อยู่ในอัลบั้มภาพมาตรวจสอบได้เลย ระบบจะแสดงรายละเอียดยอดเงิน วันเวลา รวมถึงบัญชีผู้รับ หากรายละเอียดไม่ตรงกัน หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ นั่นเป็นไปได้มากว่าลูกค้าอาจส่งสลิปปลอมให้คุณ
หากไม่สะดวกทำตามวิธีต่าง ๆ ข้างต้น ก็ให้พยายามสังเกตความผิดปกติของสลิปโอนเงินจากภาพสลิปว่า ตัวหนังสือและตัวเลขต่าง ๆ มีความสม่ำเสมอ อักษรเป็นแบบเดียวกันหรือไม่ เพราะสลิปปลอมส่วนใหญ่ ตัวอักษร เช่น เวลา วันที่ จำนวนเงิน ชื่อบัญชีผู้รับโอน จะมีความหนาบางไม่เท่ากันหรือเป็นตัวอักษรคนละแบบ ซึ่งถ้าพบความผิดปกตินี้ มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นสลิปปลอม!
กลโกงสามเหลี่ยม ABC
กลโกงนี้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันที่การซื้อขายออนไลน์เป็นที่นิยมมาก มิจฉาชีพอาศัยช่องโหว่ที่ผู้ซื้อกับผู้ขายทำธุรกรรมโดยไม่ได้พบหน้ากันจริง ซึ่งการโกงนี้มีตัวละคร 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ขายสินค้า ลูกค้า และมิจฉาชีพ ตามเรื่องราวง่าย ๆ ดังนี้
1. ผู้ขายสินค้าตัวจริง ลงรูปภาพโฆษณาและรายละเอียดสินค้าตามช่องทางการขายปกติ
2. มิจฉาชีพใช้รูปภาพและรายละเอียดสินค้าของผู้ขายนั้นไปใช้โฆษณาขายในช่องทางของตนเอง หรือเสาะหาลูกค้าที่กำลังประกาศหาสินค้าประเภทนั้นอยู่
3. ลูกค้าหลงกลติดต่อพูดคุยกับมิจฉาชีพเพื่อสั่งซื้อสินค้า ในขณะเดียวกัน มิจฉาชีพก็ไปติดต่อกับผู้ขายสินค้าตัวจริงแสดงความต้องการสินค้า และขอรายละเอียดบัญชีรับเงิน
4. เมื่อลูกค้าตกลงซื้อสินค้าแล้ว มิจฉาชีพจะส่งรายละเอียดบัญชีรับเงินของผู้ขายสินค้าตัวจริงให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมขอหลักฐานการโอนเงิน
5. มิจฉาชีพนำหลักฐานการโอนเงินนั้น ไปแสดงให้ผู้ขายสินค้าตัวจริงเห็นและขอรับสินค้า โดยแจ้งที่อยู่ของมิจฉาชีพในการรับสินค้า
6. ผู้ขายสินค้าตัวจริงเห็นยอดเงินเข้าบัญชี ไม่มีอะไรผิดปกติ จึงส่งสินค้าให้มิจฉาชีพ เป็นอันจบกระบวนการกลโกงสามเหลี่ยม ABC ที่ลูกค้าก็กลายเป็นเหยื่อโดยสมบูรณ์
ผู้ขายสินค้าตัวจริงเสียของให้มิจฉาชีพ และอาจถูกลูกค้าแจ้งความในข้อหาฉ้อโกงด้วย เพราะลูกค้าเข้าใจว่าจ่ายเงินแต่ไม่ได้รับสินค้า ส่วนมิจฉาชีพได้สินค้าไปโดยไม่ต้องจ่ายเงินซักบาทเดียว และลูกค้าตัวจริงเสียทั้งเงินและความเชื่อใจที่ไม่ได้รับสินค้า กลโกงนี้จึงตรวจสอบยากว่าใครเป็นผู้ขายจริงหรือปลอม ดังนั้น จึงขอแนะนำวิธีการป้องกันและระวังตัวเบื้องต้น ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการซื้อขายสินค้ากับแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น การไม่แสดงตัวตนจริงในการติดต่อซื้อขายสินค้า การเร่งรัดในโอนเงิน หรือการเร่งรัดให้ส่งของโดยเร็ว
2. ผู้ขายสินค้าควรเก็บหลักฐานการซื้อขายไว้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการติดต่อเพื่อขายสินค้า ในกรณีที่ลูกค้าฟ้องร้องดำเนินคดี ในขณะเดียวกัน ลูกค้าก็ควรเก็บหลักฐานการโอนเงินไว้ จนกว่าจะได้รับสินค้าเช่นกัน
กลโกงโอนเงินผิดบัญชี
ผู้ขายสินค้าออนไลน์มักจำเป็นต้องแสดงข้อมูลหลักฐานบัญชีเป็นสาธารณะเพื่อให้ลูกค้าชำระเงินได้สะดวก นี่เองเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพใช้วิธีการดังกล่าวในการหลอกลวง
1. มิจฉาชีพหลอกลวงเหยื่อด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจหลอกขายสินค้าที่ไม่มีจริง เพื่อให้เหยื่อโอนเงินมาที่บัญชีของผู้ขายสินค้าออนไลน์ตัวจริงที่มิจฉาชีพได้เลขบัญชีธนาคารมา
2. มิจฉาชีพติดต่อผู้ขายสินค้าออนไลน์ว่าโอนเงินผิดบัญชีไป ขอให้โอนเงินกลับคืนมา
3. ผู้ขายสินค้าออนไลน์ตรวจสอบพบยอดเงินดังกล่าวจริงและหลงเชื่อ จึงโอนเงินกลับไปให้มิจฉาชีพด้วยความหวังดี
สรุปว่า มิจฉาชีพได้เงินจากผู้ขายสินค้าไป โดยผู้ขายสินค้าอาจตกเป็นผู้ต้องหาเนื่องจากเหยื่อไปแจ้งความและเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามเลขบัญชีรับเงินมาที่ผู้ขายสินค้า หรือบางครั้งอาจตกเป็นช่องทางฟอกเงินให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีวิธีป้องกัน ดังนี้
1. ผู้ขายสินค้า เมื่อได้รับการติดต่อว่าโอนเงินผิดมาเข้าบัญชีของตนเอง ห้ามโอนเงินคืนด้วยตนเอง ให้เก็บหลักฐานและติดต่อธนาคารของตนเพื่อแจ้งเหตุการณ์โอนผิดดังกล่าว โดยให้ธนาคารเป็นคนโอนเงินกลับไปยังบัญชีที่กล่าวอ้าง ซึ่งควรมีการตรวจสอบก่อนโอนเงินคืน
2. ผู้ขายสินค้าสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
3. ลูกค้าที่โอนเงินผิด ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวัน นำเป็นหลักฐานในการติดต่อธนาคารเพื่อทำเรื่องในการโอนเงินกลับคืน
การคิดรูปแบบกลโกงออนไลน์ มิจฉาชีพยังคงหาช่องโหว่ในการหลอกลวงผู้ใช้บริการอยู่เสมอ ร้านค้าและลูกค้าเองต้องสังเกตและระมัดระวังในการซื้อขายสินค้า ตลอดจนอัปเดตความรู้เรื่องกลโกงออนไลน์อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลและแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ โทร. 1212 (24 ชม.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร.1441 หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพจาก AFP