ก้าวพ้นความยากจน! กสศ.ชวน “สถานศึกษา-ผู้ประกอบการ” พัฒนาทักษะเยาวชน
กสศ.แจงสถานศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ ยื่นข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2566 ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เพื่อร่วมสร้างโอกาสให้เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ขณะที่ภาคเอกชนสนใจพัฒนาทักษะผู้พิการ เป็นแรงงานคุณภาพ ก้าวพ้นความยากจน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ให้ทุนการศึกษาภายใต้โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2566 สำหรับสถานศึกษาทั่วไปและสถานศึกษานวัตกรรมทั่วประเทศ ที่เปิดสอนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกับสถานศึกษาในการส่งเสริมโอกาสแก่เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.6 ปวช.3 หรือเทียบเท่าที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับทุนการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) และอนุปริญญา
โดยนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า เป็นการผลักดันให้เยาวชนไทยหันมาเรียนสายอาชีพในสาขาตลาดแรงงานต้องการ และสาขาที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกำดักรายได้ปานกลาง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาตรการสำคัญคือการลดสัดส่วนแรงงานไร้ฝีมือ หรือกลุ่มผู้จบการศึกษาในระดับมัธยมหรือต่ำกว่าระดับมัธยมให้น้อยลง ด้วยการผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้เรียนสูงกว่าระดับมัธยมศึกษา โดยเฉพาะสายอาชีพ ระดับ ปวช. ปวส. อนุปริญญา ประกาศนียบัตรให้มากขึ้น
ขณะที่โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ.มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส จำนวน 2,500 ทุน ให้โอกาสในการศึกษาต่อสายอาชีพ ปวช. ปวส. อนุปริญญา ประกาศนียบัตร 1 ปี ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ เมื่อจบการศึกษาแล้ว มีงานทำทันทีสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ขณะที่ น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาในแต่ละปีสูงถึง 5 แสนล้านบาท แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงพบเห็นได้ทุกพื้นที่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสังคมและเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้านการศึกษาซึ่งประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาแก่ประชาคมโลกว่าจะทำให้สำเร็จในปี 2030
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงได้จัดทำโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2566 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม สำหรับหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ช่วยทันตแพทย์ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และสำหรับสถานศึกษาทั่วไปและสถานศึกษานวัตกรรม เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา หรือพัฒนาเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ และการส่งเสริม สนับสนุนให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาเพื่อให้มีการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตนเอง
นายภูรี สมิทธิเนตย์ หัวหน้าโครงการ Café Amazon For Chance บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ในกลุ่ม ปตท. กล่าวว่า ทางเรามีความยินดีที่จะเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ร่วมรับผู้พิการที่ได้รับทุน จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ที่สำเร็จการศึกษาและมีความประสงค์จะเข้ามาเป็นพนักงานของเรา สามารถสมัครเป็นบาริสต้า ทำงานงานที่ Café Amazon For Chance ของเราได้
โครงการ Cafe Amazon for chance เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการได้มาพัฒนาทักษะการทำงาน เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำ มีรายได้ มีความรู้ในการประกอบธุรกิจ โดยกลุ่มผู้ด้อยโอกาสมีตั้งแต่กลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางออทิสติก และผู้พิการ
ทางการเคลื่อนไหวรวมถึงผู้สูงวัยด้วย หลังจากดำเนินโครงการฯ มา 5 ปี ปัจจุบันมี Café Amazon For Chance จำนวน 68 สาขา และมีพนักงานที่ด้อยโอกาสได้รับการจ้างงานกว่า 200 อัตรา
“แนวคิดการเรียนรู้ ว่าจุดแข็งจุดด้อยของตัวกลุ่มผู้พิการมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะในกรณีกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน เรารู้ว่าเขามีความบกพร่องทางการสื่อสาร เรามีการดีไซน์การทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนไปได้ โดยเรียนรู้การทำงานร่วมกับพนักงานปกติ และพนักงานปกติจะมาร่วมเรียนรู้ภาษามือ เพื่อให้สื่อสารร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังให้พนักงานกลุ่มพิเศษได้มีโอกาสทำงานในทุกๆ ฝ่าย เช่น ตำแหน่งรับออเดอร์ ตำแหน่งพนักงานชงเครื่องดื่ม หรือตำแหน่งฝ่ายประสานงานซัพพลายเออร์ และการเรียนรู้เรื่องบัญชี ทำให้น้องๆ มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเหมือนคนปกติทั่วไป จนสามารถขึ้นตำแหน่งบริหารเพิ่มเติมได้”นายภูรี กล่าว
ภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ข้อมูล : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)