TNN รู้ทัน "ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน" เช็กอาการ-การป้องกัน ก่อนสายเกินไป?

TNN

สังคม

รู้ทัน "ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน" เช็กอาการ-การป้องกัน ก่อนสายเกินไป?

รู้ทัน ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน  เช็กอาการ-การป้องกัน ก่อนสายเกินไป?

รู้ทัน "ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน" เช็กอาการ-การป้องกัน ก่อนสายเกินไป?

รู้ทัน "ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน"  เช็กอาการ-การป้องกัน ก่อนสายเกินไป? 


ภาวะหัวใจวาย  ทางการแพทย์เรียกว่า หัวใจขาดเลือด (Heart Attack) หรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน ภาวะที่หัวใจอ่อนแอไม่สามารถบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายได้เพียงพอ ถือว่าเป็นภัยเงียบที่เกิดได้ในทุกเพศทุกวัยที่ต้องใส่ใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นภาวะที่มักไม่มีสัญญาณเตือนก่อนเหมือนโรคอื่นๆ  



ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน  มักจะมี อาการดังนี้



1.เหนื่อยง่าย หรือหอบ นอนราบไม่ได้ ต้องหนุนหมอนเพิ่มหรือนั่งหลับ 

2.สะดุ้งตื่นมาตอนกลางคืน เพราะอึดอัดหายใจลำบาก 

3.บวมที่ข้อเท้าและหน้าแข้ง 

4.น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 2 กิโลกรัม ใน 2 วัน 

5.อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และท้องอืด   


พฤติกรรมเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน 


1. ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง

อาหารคอเลสเตอรอลสูง เช่น เค้ก เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ติดมัน ชีส อาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ด และอาหารปิ้งย่าง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูงจนไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ และเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

2. อ้วน

การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ก็ทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังและเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดจากการมีไขมันในหลอดเลือดมาก ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตติดขัด กระทั่งหัวใจขาดเลือดและเสียชีวิตอย่างกะทันหัน

3. ออกกำลังกายมากเกินไป

ปัจจัยนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ทั้งแบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ โดยการออกกำลังกายมากเกินไปจะเพิ่มภาระให้ระบบหัวใจและปอดต้องทำงานอย่างหนัก กระทั่งสูญเสียความสามารถในการทำงาน กล้ามเนื้อหัวใจตายลงไปในที่สุด

ฉะนั้นหากออกกำลังกายแล้วรู้สึกเหนื่อยเกินพอดี (เหนื่อยหอบจนไม่สามารถพูดคุยได้แม้แต่คำสั้น ๆ) แนะนำให้ชะลอการออกกำลังกาย หยุดพักดีกว่าฝืนออกกำลังกายต่อไป ที่สำคัญอย่าหยุดออกกำลังกายอย่างกะทันหัน เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเช่นกัน

4. ขาดการออกกำลังกาย

พฤติกรรมขาดการออกกำลังกายมักจะนำภาวะอ้วนมาให้ ซึ่งเมื่ออ้วนขึ้นก็เสี่ยงต่อโรคไขมันในเลือดสูง หรืออาจเกิดภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือด ทำให้หัวใจขาดเลือดได้

5. ดื่มคาเฟอีนมากเกินไป  

เมื่อร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะเสียสมดุลของสารเกลือแร่ในร่างกาย ก่อให้เกิดอาการชักเกร็ง หลังแอ่น ปอดแฟบ ความดันโลหิตพุ่งสูงอย่างเฉียบพลัน หัวใจบีบรัดมากเกินไป ส่งผลให้ภาวะการหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ 

6. เสียใจอย่างหนัก สะเทือนใจอย่างแรง

ความรู้สึกที่รุนแรงก็อาจส่งผลถึงชีวิตได้เช่นกัน ทางการแพทย์จะเรียกกันว่า ภาวะหัวใจสลาย หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติทาโคสึโบะ โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีระดับฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมาสูงมากอย่างเฉียบพลัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหัวใจและหลอดเลือด โดยอาจเกี่ยวกับการที่หัวใจด้านซ้ายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

อาการที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวเนื่องมาจากสมองมีการหลั่งสารแคทีโคลามีน หรือสารสื่อประสาท เช่น อีพิเนฟริน นอร์อีพิเนฟริน และโดพามีน ในขณะที่เกิดความเครียดมาก ๆ หรือมีสิ่งสะเทือนใจอย่างรุนแรง เช่น สูญเสียคนรักอย่างกะทันหัน พ่อ แม่ ญาติสนิทเสียชีวิต เจอความผิดหวังเสียใจหนัก ๆ ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกร็งและแข็งตัวทันที เลือดจึงไม่สามารถผ่านไปเลี้ยงหัวใจ และหากเป็นในเวลานาน หัวใจก็ไม่อาจสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ นำมาซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

7. ช็อก

ภาวะช็อกมักจะเกิดจากการสูญเสียเลือดในปริมาณมาก เช่น คนที่ประสบอุบัติเหตุ เสียเลือดมาก ส่งผลให้หัวใจมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอหรือเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้

8. ใช้สารเสพติด

พฤติกรรมเสพยาเสพติด เช่น โคเคน แอมเฟตามีน หรือการได้รับยาเกินขนาด อาจส่งผลให้หลอดเลือดมีการหดตัวอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้เช่นกัน

9. สูบบุหรี่

คนที่สูบบุหรี่จัด ๆ ขอเตือนให้ระวังสุขภาพโดยด่วน เพราะบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว มีการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบลง จนเกิดภาวะหัวใจขาดออกซิเจน เส้นเลือดหัวใจตีบ เมื่อเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

10. เครียดง่าย

คนที่ทำงานหนักและมีความเครียดสูง ๆ คือกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติมากที่สุด เพราะความเครียดจะไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมไปถึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงมีไขมัน มีการอักเสบต่าง ๆ มาเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดได้ โดยเฉพาะคนที่มีความเครียดมาก ๆ และเครียดอยู่เป็นประจำ

โรคหัวใจวายเฉียบพลัน อาการเป็นอย่างไร

คำว่าเฉียบพลันก็บอกเป็นนัย ๆ ว่าอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ ที่สำคัญคือมักจะเกิดแบบไม่มีสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของร่างกาย ดังนั้นอีกหนึ่งข้อมูลที่อยากให้ทราบกันไว้ก็คืออาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรืออาการหัวใจวาย 


สังเกตอาการได้ง่าย ๆ ดังนี้ 


- เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตรงกลางอก และเป็นนานเกินกว่าหนึ่งนาทีขึ้นไป

- เจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปยังบริเวณคอ กราม ไหล่และแขนทั้งสองข้าง

- มีเหงื่อออกตามร่างกาย

- เหนื่อยง่าย หายใจถี่กระชั้น

- วิงเวียน หน้ามืด

- ชีพจรเต้นเร็ว  


หากพบเห็นใครก็ตามที่มีอาการข้างต้น ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยด่วน เพื่อกู้ชีพผู้ป่วยขึ้นมา โดยหลังจากโทร เรียกรถพยาบาลแล้ว ก็ควรรีบทำ CPR อย่างถูกวิธีโดยเร็วที่สุด




ข้อมูล สถาบันโรคทรวงอก
ภาพ AFP

ข่าวแนะนำ