TNN ทดสอบภาวะซึมเศร้า "หมอพร้อม" เปิดตรวจสุขภาพใจ ใช้ระบบ AI ประมวลผล

TNN

สังคม

ทดสอบภาวะซึมเศร้า "หมอพร้อม" เปิดตรวจสุขภาพใจ ใช้ระบบ AI ประมวลผล

ทดสอบภาวะซึมเศร้า หมอพร้อม เปิดตรวจสุขภาพใจ ใช้ระบบ AI ประมวลผล

รัฐบาล เชิญชวนคนไทยตรวจสุขภาพใจผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ทำแบบทดสอบ พร้อมมีระบบให้พูดคุย AI เก็บข้อมูลสีหน้า น้ำเสียงและเนื้อหาเพื่อประมวลผลให้คำแนะนำ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแพลตฟอร์มหมอพร้อม เพื่อให้เป็นระบบบริการประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19  อาทิ การบันทึกข้อมูลฉีดวัคซีนและออกใบรับรองการฉีดวัคซีน  เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายก็ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มไปสู่การบริการสุขภาพด้านอื่นๆ

 

ล่าสุด แพลตฟอร์มหมอพร้อมได้เพิ่มฟังก์ชั่น “ตรวจสุขภาพใจ” เข้าไปอยู่ใน Chatbot หมอพร้อม  ซึ่งขอเชิญประชาชนเข้าไปใช้บริการเพื่อตรวจเช็คสุขภาพจิตเบื้องต้นและคัดกรองความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ง่ายๆ  เพียงเข้าไปที่ Line OA หมอพร้อม 


โดยเพิ่มเป็นเพื่อนที่ https://bit.ly/2Pl42qo เลือกเมนูคุยกับหมอพร้อม (chatbot) แล้วเลือก  "ตรวจสุขภาพใจ" จากนั้นก็สามารถเข้าสู่การทำแบบทดสอบได้ หรือคลิ๊กเข้าไปทำแบบทดสอบโดยตรงได้ที่ https://bit.ly/DMIND_3

 

ฟังก์ชั่นตรวจสุขภาพใจ นี้เป็นนวัตกรรม DMIND Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของคณะแพทย์ศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีเป้าหมายคือการเป็นเครื่องมือสำหรับการคัดกรองผู้มีภาวะซึมเศร้าซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละกว่า 4,000 คน พยายามฆ่าตัวตายถึงปีละ 53,000 คน ซึ่งการมีเครื่องมือคัดกรองนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาที่รวดเร็ว จะลดการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ในระยะยาว

 

สำหรับขั้นตอนการทดสอบสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้าผ่านฟังก์ชั่นตรวจสุขภาพใจ หรือ DMIND Application นี้ จะเริ่มจากการทำแบบสอบถามเบื้องต้นก่อน จากนั้นระบบจะให้เปิดกล้องพูดคุยกับ “คุณหมอพอดี” ซึ่งเป็นระบบ AI โดยผู้รับการทดสอบสามารถ ระบายความในใจเหมือนกำลังพบกับจิตแพทย์ ซึ่งระบบจะรวบรวมข้อมูลจากการประเมินสีหน้า น้ำเสียง วิเคราะห์เนื้อหา ความวิตกกังวล แล้วประมวลผลออกมา มีการประเมินผลเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง และให้คำแนะนำต่างๆ  ซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์สีแดงที่เสี่ยงฆ่าตัวตายจะมีทีมงานติดต่อเพื่อนัดให้พบจิตแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อเข้าสู่การรักษาต่อไป





ที่มา รัฐบาล

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ