APEC 2022 สัญลักษณ์มิตรภาพ แฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยจากดีไซเนอร์ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค
APEC 2022 แฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยจากดีไซเนอร์ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ดันผ้าไหมไทยเป็นสัญลักษณ์มิตรภาพเอเปค สอดรับแนวคิด BCG
รัฐบาลชื่นชมแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยจากดีไซเนอร์21เขตเศรษฐกิจเอเปค ดันผ้าไหมไทยเป็นสัญลักษณ์มิตรภาพเอเปค สอดรับแนวคิด BCG ตอกย้ำนายกรัฐมนตรีผลลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เพิ่มโอกาสจำหน่ายสินค้า กระจายรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลชื่นชมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) 2022 ที่มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทย “Thai Silk Through The Eyes of APEC” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บริเวณศูนย์สื่อมวลชน เมื่อค่ำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 มีความสวยงามสร้างความประทับใจ และความพิเศษเนื่องจากใช้ผ้าไหมไทยมรดกอันล้ำค่า ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นสีสันสดใสเงางามจากภูมิปัญญาไทย
ผ่านการออกแบบโดยดีไซเนอร์จากเขตเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขต ได้แก่ ประเทศไทย , สหรัฐอเมริกา , ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, เวียดนาม , สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ , เปรู , ปาปัวนิวกินี , เม็กซิโก , มาเลเซีย , เกาหลีใต้ , อินโดนีเซีย , ฮ่องกง , ไต้หวัน , จีน , ชิลี , แคนาดา , บรูไน , รัสเซีย และออสเตรเลีย
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยจากผลงานของดีไซเนอร์21 เขตเศรษฐกิจเอเปค สื่อถึงเจตนารมณ์ในการให้ผ้าไหมเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ เชื่อมต่อความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบของทุกเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกันรวมเป็นหนึ่งเดียว ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแต่ละเขตเศรษฐกิจ สอดรับกับแนวคิดที่ไทยนำเสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นแนวทางที่ไทยนำเสนอต่อที่ประชุมเอเปค ในแนวทางส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ตามเป้าหมายกรุงเทพฯ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอกย้ำความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะนำผ้าไหมไทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ อันมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอยู่แล้ว ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก และเมื่อผ่านการออกแบบจากดีไซเนอร์นานาชาติ ช่วยให้ผ้าไหมเป็นหนึ่งในผ้าที่สามารถนำไปสร้างสรรค์ได้หลากหลายรูปแบบ
ส่งเสริมให้รักษาฐานความนิยม และต่อยอดเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าได้ทั่วโลก เป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมทั้ง 5 F ได้แก่ 1. Food (อาหาร)
2. Film (ภาพยนตร์และวีดิทัศน์)
3. Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย)
4. Fighting (ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย)
5.Festival (เทศกาลประเพณี)
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างรายได้และการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ข้อมูลจาก Thaigov
ภาพจาก TNN ONLINE