APEC 2022 MEA ใช้นวัตกรรมคลื่นเสียง ตรวจสอบระบบไฟฟ้าในงานประชุมเอเปค
การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA นำนวัตกรรมในการตรจจับคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจสอบหาจุดบกพร่องระบบไฟฟ้า ในงานประชุม APEC 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนนี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพ
การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA นำนวัตกรรม Acoustic Camera อุปกรณ์ตรวจจับเสียงคลื่นความถี่สูง ใช้ตรวจสอบ Partial discharge จุดบกพร่องของฉนวนไฟฟ้าในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA เพื่อปรับปรุงระบบและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่จัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง APEC 2022 ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบจุดบกพร่อง ระบบไฟฟ้าของ MEA ยังมีประสิทธิภาพมั่นคงปลอดภัย
สำหรับอุปกรณ์ Acoustic Camera นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ MEA นำมาใช้ตรวจสอบความผิดปกติของอุปกรณ์ไฟฟ้าและจุดเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยระบบการทำงานของ Sensor วัดเสียงในระยะไกลในระดับคลื่นความถี่ 2 - 65 กิโลเฮิร์ตซ์ สามารถตรวจสอบจุดบกพร่องของฉนวนไฟฟ้าได้ตั้งแต่ในช่วงความผิดปกติเริ่มต้นที่ยังไม่เกิดความร้อน หรือความผิดปกติอื่น ๆ ทางกายภาพที่ยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า
อีกทั้งยังมีระบบ AI ในการประมวลผลจำแนกประเภทของความผิดปกติ และระดับความรุนแรงเพื่อให้สามารถจัดลำดับการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมา MEA ได้ตรวจสอบทั้งในระบบสายส่งไฟฟ้า สายป้อนไฟฟ้า และอุปกรณ์จำหน่ายไฟฟ้าในระดับ 1 kV ขึ้นไป ทำให้ MEA สามารถนำข้อมูลที่ตรวจพบไปวางแผนปรับปรุงอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้า และเสริมความมั่นคงของระบบจำหน่ายไฟฟ้าโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ MEA ยังลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยด้านระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้บริการประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง ในสถานที่จัดงานลอยกระทง เพื่อตอกย้ำความมั่นใจความปลอดภัยให้แก่ประชาชน หากประชาชนในพื้นที่ให้บริการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พบเห็นสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุดอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย หรือต้องการความช่วยเหลือด้านระบบไฟฟ้ารวมถึงขอเลื่อนเครื่องวัด ฯ สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter: @mea_news หรือแจ้งได้ที่การไฟฟ้านครหลวงเขต ทุกเขตใกล้บ้าน และ MEA Call Center โทร 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ภาพ TNNOnline