APEC 2022 ตร.-กทม.เพิ่มกล้อง CCTV ย้ำความปลอดภัยสูงสุด
ผบ.ตร. ผนึกกำลัง ผู้ว่า กทม. ดูแลความปลอดภัยและการจราจร การประชุม APEC 2022 เตรียมเพิ่มกล้อง CCTV ให้ครอบคลุม ดึงเทศกิจ พนักงานทำความสะอาด ภาคประชาชน ช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัย พร้อมบูรณาการแก้ปัญหายาเสพติด และการจราจรร่วมกันอย่างจริงจัง
วันนี้ (2 พ.ย.65) เวลา 09.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รอง ผบ.ตร., รองผู้ว่าฯ กทม. และข้าราชการระดับสูงในสังกัดทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมประชุมเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการร่วมมือกันดูแลรักษาความปลอดภัยและการจราจร เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ.2565 รวมทั้งหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการจราจรติดขัด
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรฯ มีดำริให้แสวงหาความร่วมือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และทุกภาคส่วน เพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยให้แก่การจัดการประชุมเอเปค วันนี้จึงได้เชิญท่านผู้ว่า กทม. และผู้บริหารระดับสูง มาหารือ เพื่อบูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง ตร.และ กทม.
ซึ่งมีเรื่องเร่งด่วน 3 เรื่องที่ต้องหารือร่วมกัน คือ
1. การจัดการประชุมเอเปค 2022
ซึ่งตร. จะมีการจัดอบรม แนะนำให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ และพนักงานรักษาความสะอาด พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถสาธารณะ เพื่อช่วยให้การสอดส่องดูแลป้องกันเหตุ และเป็นเครือข่ายในการแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยจะมีรางวัลให้กับผู้แจ้งเหตุจนนำไปสู่การจับกุมผู้ก่อความไม่สงบ นอกจากนั้น ทาง กทม.จะสนับสนุนติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมทั้งเส้นทาง สถานที่ประชุม ตลอดจนสถานที่พักของผู้นำประเทศ และผู้เข้าร่วมประชุมด้วย
2. การแก้ไขปัญหาการจราจร
จะมีการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในระดับ บช.น. กับ กทม. และ คณะทำงานย่อย ในระดับพื้นที่ สง.เขต กับ บก. และ สน.พื้นที่ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาได้ทันที ใช้ข้อมูลอุบัติเหตุจากระบบ อบถ. มาวิเคราะห์หาจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย เพื่อทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงในการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้ตั้งป้าย และปรับปรุงแก้ไขลักษณะทางกายภาพได้ถูกต้อง เทศกิจ กับ ตำรวจจราจร จะร่วมมือในการกวดขันรถจอดในที่ห้าม มีการอบรมอาสาจราจรให้กับเทศกิจ เพื่อจะสามารถช่วยจัดการจราจร
การบริหารสัญญาณไฟจราจร โดยใช้ระบบ AI การแก้ปัญหารถบรรทุกฝ่าฝืนวิ่งในเวลาห้ามและขึ้นสะพานที่ห้ามรถบรรทุกขึ้น น้ำหนักรถบรรทุกเกินส่งผลต่อผิวการจราจร และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือรถจอดเสียส่งผลกระทบการจราจรอย่างมาก รวมทั้งให้ กทม. สามารถเชื่อมฐานข้อมูลจาก อบถ. เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันอุบัติเหตุ
3. การอบรมนักเรียนป้องกันตนเองจากเหตุกราดยิง หรือ Active shooter
ตร. ได้จัดทำหลักสูตร การอบรมเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ทั้งเขต กทม. และทั่วประเทศ เพื่อให้รู้วิธีในการเอาตัวรอดจาก Active shooter เหมือนเหตุการณ์ Terminal 21 และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู นอกจากนี้ยังได้มีการหารือแนวทางการป้องกันกรณีคนเหยียบกันเช่น เหตุการณ์โศกนาฏกรรม อิแทวอน ประเทศเกาหลี ซึ่งท่านผู้ว่า กทม. จะเชิญวิทยากรของตำรวจไปอบรมให้กับเด็กนักเรียนครบทุกโรงเรียนใน 50 เขต รวมถึงบริษัทเอกชนด้วน
ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 ด้าน คือ
1. คณะทำงาน Smart safty zone : ซึ่ง ตร. ได้นำโครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 มาใช้เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยจะมีเชื่อมต่อระบบกล้อง CCTV ของ กทม. ,ตร. และ ทุกภาคส่วน
2. คณะทำงานเรื่องยาเสพติด : ตร.ได้ขอพื้นที่ในศูนย์คัดกรอง ของ กทม.เป็นสถานที่ดูแลชั่วคราว 24 ชม.ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 115 ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องนำผู้เสพที่สมัครใจบำบัดไปเข้า สน. หรือที่อื่น เนื่องจากเมื่อซักถามแล้วก็ต้องส่งศูนย์คัดกรอง และขอขยายสถานที่การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะที่มีอาการทางจิตเพิ่มขึ้น เช่น ทุ่งสีกัน กับ ดอนเมือง ในสังกัด ทอ.กห. และร้องขอให้กรมการแพทย์(สบยช.) สนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยง ก็จะสามารถรับคนป่วยจิตเวชในพื้นที่ กทม.ที่ผ่านการบำบัดแล้วได้ อันเป็นการเพิ่มจำนวนเตียงให้กับ กทม.ด้วย
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือกรณีตำรวจค้นหาผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดที่สมัครใจบำบัด ได้แล้วส่งศูนย์คัดกรอง ให้ กทม.ใช้กระบวนการบำบัดรักษาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน CBTx โดย ตำรวจจะสนับสนุนการปฏิบัติเพื่อคืนคนดีสู่สังคม
3. คณะทำงานด้านการจราจร : ท่านผู้ว่า กทม. ได้แจ้งความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจุดฝืด (การจราจรติดขัด) ที่ได้จากการสำรวจทั้ง 270 จุด ในพื้นที่ 50 เขต ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้ทีมที่ปรึกษา ฯ ช่วยวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาแล้ว และสั่งการให้ทุกเขต รีบดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้ว
นอกจากนี้ ปัญหาหาบเล่แผงลอย ทาง กทม.จะกำหนดจุดผ่อนผันจัดที่ขายให้พ่อค้าแม่ค้า โดยขอความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจรก่อน ปัจจุบันพอมีการฝ่าฝืน ทั้งเทศกิจ และตำรวจจราจรต่างคนต่างจับ ใช้อำนาจตามกฎหมายคนละฉบับ ต่อไปจะเป็นการบูรณาการร่วมกัน เน้นจุดที่มีการฝ่าฝืนเป็นประจำ โดยจะใช้มาตรการจากเบา ไปหาหนัก คือ ตักเตือน ไปถึงขั้นจับกุม เพื่อเป็นการ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนด้วย
4. คณะทำงานจัดการโซนนิ่ง (Zoning) : รวมถึงการป้องกันเหตุอัคคีภัยในสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เป็นลักษณะคล้ายสถานบริการ ที่เป็นผับบาร์ เช่นเหตุการณ์ เม้าเทนท์ บี จ.ชลบุรี อาจต้องมีการทำเรื่องหารือไปยักระทรวงมหาดไทย กทม. ได้มีการตั้งคณะทำงานดูเรื่อง โซนนิ่งของสถานบริการ ปัจจุบันกฎหมายค่อนข้างล้าหลัง อาจจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สถานบริการ
ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า ขอบคุณ ผบ.ตร. ที่ริเริ่มให้มีการประชุมร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่ง กทม. กับ ตร.ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 ด้าน และมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำร่วมกัน 3 เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการประชุมเอเปค จะเชิญให้วิทยากรของ ตร. มาอบรม และจัดทำคลิปให้ความรู้เพื่อเจ้าหน้าที่เทศกิจ พนักงานทำความสะอาด ทุกคนได้ศึกษาอย่างทั่วถึงทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจ
นอกจากนี้จะสนับสนุนกล้อง CCTV เพื่อให้ครอบคลุมในจุดที่เป็นจุดล่อแหลม หรือจุดฟันหรอ ส่วนเรื่องการอบรมการป้องกันเหตุกราดยิง เป็นเรื่องที่ดี อยากให้อบรมให้ครบทุกโรงเรียน รวมไปถึงภาคเอกชนด้วย เพราะภาคเอกชนก็สำคัญ และจะเสนอให้มีการอบรมการทำ CPR ด้วย
ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากความห่วงใย และขอเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปค 2022 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14-19 พ.ย.65 ทั้งนี้หากพบเบาะแส สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชม.
ภาพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ