TNN เปิดเวทีสัมมนาสาธารณะ "คอนเทนต์คุณภาพ กับ โอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง"

TNN

สังคม

เปิดเวทีสัมมนาสาธารณะ "คอนเทนต์คุณภาพ กับ โอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง"

เปิดเวทีสัมมนาสาธารณะ คอนเทนต์คุณภาพ กับ โอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง

บยสส. รุ่น 2 จัดสัมมนาสาธารณะ "คอนเทนต์คุณภาพ กับ โอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง" ในยุคการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล



เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) รุ่นที่ 2 ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดงานสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ "คอนเทนต์คุณภาพ กับโอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง" โดยก่อนเริ่มงานได้มีการยืนสงบนิ่ง 1 นาทีเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลดใจที่ จ.หนองบัวลำภู


นายสมชาย รังษีธนานนท์ ที่ปรึกษา บยสส. รุ่นที่ 2 กล่าวว่า จากการที่สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงหน้าที่พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรด้านสื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของสื่อมวลชน จึงจัดให้มีการจัดอบรม บยสส. รุ่นที่ 2


โดยมีจำนวนผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 50 คน ได้ระดมความคิดและจัดทำกรอบแนวคิดธุรกิจสื่อสารมวลชน หรือนวัตกรรมที่เน้นคุณภาพของเนื้อหาและการวัดคุณภาพของรายการ เพื่อให้สื่อสารมวลชนเป็นที่พึ่งด้านข้อมูลที่สำคัญให้ความบันเทิงที่สร้างสรรค์และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทย





นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการหลักสูตร บยสส. รุ่นที่ 2 กล่าวว่า การจัดเวทีในวันนี้ เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะเปิดมุมมองให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลที่รอบด้านที่ทางผู้เข้าอบรมได้จัดทำและเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพเนื้อหาของรายการในสื่อท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


โดยมีตัวแทนผู้เข้าอบรมหลักสูตร บยสส. รุ่นที่ 2 นำเสนอโครงการฯ ได้แก่ คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ เว็บไซต์ Pantip.com, คุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด, คุณเดียว วรตั้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด (ช่องวัน 31), ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ คุณอรพิน เหตระกูล ที่ปรึกษาบรรณาธิการออนไลน์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ทำไมสื่อถึงนำเสนอแต่คอนเทนต์ไม่สร้างสรรค์, The Premium คนสื่ออยู่ได้ คนอ่านยอมจ่าย, ข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกของผู้ชมรายการโทรทัศน์กับแนวคิดสร้างตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ, ธุรกิจโทรทัศน์กับการอยู่รอดท่ามกลางการเติบโตของ OTT หรือ สตรีมมิงทีวี, แอปพลิเคชัน คนข่าว, นวัตกรรมข่าวมีสาระ รวมถึง การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยให้การนำเสนอข่าวสารมีความน่าสนใจมากขึ้น


ทั้งนี้ รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ ประธาน บยสส. รุ่น 2 กล่าวว่า บทสรุป ทั้ง 8 โครงงานฯ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตสื่อรับรู้ได้ว่า ปัญหาของสื่อในปัจจุบันคือ การสื่อหลักถูกแย่งพื้นที่จากแพลตฟอร์มที่หลากหลาย จึงต้องมีการแข่งขันกันด้วยเรตติ้งเพื่อความอยู่รอดจากเม็ดเงินที่ได้จากค่าโฆษณา เนื้อหาที่แพร่ให้ประชาชนจึงต้องเป็นเนื้อหาที่ดึงดูดใจ อยู่ในกระแส คุณภาพของเนื้อหาและประโยชน์สำหรับประชาชนจึงถูกละเลย ทางออกที่ทุกกลุ่มพัฒนาขึ้น เป็นนวัตกรรมที่เน้นคุณภาพของเนื้อหา พัฒนาเครื่องมือเพื่อวัดคุณภาพของรายการ และพัฒนา Business Model สำหรับผู้ผลิตสื่อ ทั้งนี้เพื่อให้ สื่อสารมวลชนเป็นที่พึ่งด้านข้อมูลที่สำคัญ ให้ความบันเทิงที่สร้างสรรค์ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน


นอกจากนี้ ยังได้รับฟังมุมมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ คุณวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด รศ.ดร.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การสร้างแนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการสื่อของไทย



เมื่อถามถึง เรตติ้งกับคุณภาพของสื่อ จะบาลานซ์กันอย่างไร คุณวัชร วัชรพล กล่าวว่า การบาลานซ์ 2 อย่าง เป็นสิ่งที่มีมาตลอด ในระหว่างที่จะสร้างคอนเทนต์เชิงคุณภาพ สาระ กับคอนเทนต์ที่นำมาซึ่งรายได้ ซึ่งจะมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ เราต้องยอมรับว่า เรายังติดกับดักเรตติ้งอยู่ ดังนั้น การบาลานซ์ คือการเลือกคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับช่วงเวลา ผมว่ามันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก





ด้าน รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล กล่าวถึงกรณีระหว่างข่าวที่ควรรู้ กับข่าวที่ต้องรู้ เราควรให้น้ำหนักข่าวไหน ว่า จริงๆ แล้ว เรตติ้งเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่ง แต่ด้วยสมรภูมิสื่อในประเทศ ตัวเรตติ้งเป็นตัวที่บอกโฆษณา ปัจจุบันมี Business Model ใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะมาก การกำหนดเม็ดเงินโฆษณา ก็อยู่บนโกลเบิลทั้งหมด


ในวงการสื่อ จริงๆ แล้ว สื่อไม่ได้เป็นสินค้าทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดของคน ที่ผ่านมา เราจะเห็นสังคมเป็นตัวนำสื่อ กระทบกับวิธีคิด ดังนั้นสื่อเองต้องผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมือนเราต้องให้ยาขมประชาชน เพื่อยกระดับความคิด ยกระดับสังคม อีกด้านคือ ประชาชนต้องการอะไร จะสื่อสารออกไปอย่างไร ซึ่งช่องสถานีต้องมีจุดยืนของตัวเอง ต้องยอมรับว่า มันยากจริงๆ ที่จะบาลานซ์ระหว่างเรตติ้ง กับคุณภาพ ซึ่งหากอิงเรตติ้งอย่างเดียว อาจทำให้สังคมตกต่ำลงไปเรื่อยๆ หรือการทำข่าวที่ไปละเมิดเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งเกิดมาหลายๆ ครั้ง จนทำให้เราเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเกิดการเตือนให้ช่วยกันระวังในเรื่องการนำเสนอข่าว โดยเสียงของประชาชน จนเกิดการคุมสื่อไม่ให้กระหายเรตติ้งมาก



เปิดเวทีสัมมนาสาธารณะ คอนเทนต์คุณภาพ กับ โอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง


เมื่อถามว่า ทีวีตอบโจทย์คอนเทนต์คุณภาพแล้วหรือยัง คุณสารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า ส่วนตัวในมุมผู้บริโภค เรื่องนี้ตอบแบบจริงจังว่า "ยัง" ยกตัวอย่างวันที่ 15 ของเดือน ข่าวที่เราได้ดูมากคือ หวย หรือข่าวอาชญากรรมส่วนใหญ่ ก็ไม่มีรายละเอียด แต่กลายเป็นดราม่า ไม่มีใครพูดถึงการเกิดอุบัติเหตุ แต่ผู้สื่อข่าวทำตัวเป็นตำรวจ ใครหาคนทำผิดได้ก่อน คนนั้นจะเจ๋งมาก แต่เราต้องการให้คุณหาข้อมูลอื่นๆ อาทิ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคนไม่นิยมรถสาธารณะ ค่ารถไฟฟ้าแพง ถนนไม่ดี เป็นต้น


ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่เราต้องการคุณภาพของคอนเทนต์ แต่จริงๆ แล้วเรตติ้งก็ไปด้วยกันได้ แต่ขณะนี้เหมือนเรายอมจำนน ซึ่งเราต้องทำให้วิชาชีพ ที่มีจริยธรรม สร้างคอนเทนต์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ และสามารถทำให้สนุกได้ด้วย อย่างภาพยนตร์เรื่องคังคุไบ ทำให้เราเห็นว่า ความมีคุณภาพ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเรตติ้ง


ถ้าเรตติ้ง และโฆษณา ถ้าถูกปลดล็อกไป คอนเทนต์จะเปลี่ยนหรือไม่ คุณวัชร วัชรพล กล่าวว่า การได้มาของใบอนุญาตในประเทศไทยเริ่มมาจากการประมูล ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล มันไม่เหมือนหลายประเทศในยุโรป ที่ได้จากอวอร์ด ว่าใครควรได้รับใบอนุญาต และเม็ดเงินที่ได้มา ก็มาจากทีวีไลเซนส์ ที่ทุกบ้านที่ต้องจ่าย แต่อาจจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเป็นเหมือนการผลักภาระให้ประชาชน แต่หากมีการเปลี่ยนมาตั้งแต่ต้น อาจจะอยู่ในอีกบริบท ที่ไม่ใช่แบบนี้ก็ได้


ส่วนเรื่องตัววัดคุณภาพ เราก็ยินดีที่จะนำเสนอในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ก็มีคำถามว่า คนส่วนใหญ่ต้องการดูคอนเทนต์แบบนี้จริงๆ หรือเปล่า อีกทั้งคำว่า "คุณภาพ" ในมุมมองของใคร หากในมุมนักการตลาด ต้องคุ้มค่าที่สุด ซึ่งเมื่ออยู่ในโลกทุนนิยม ก็อาจจะตอบยากสักนิด


ขณะที่อาชีพสื่อสารมวลชน ทิศทางเป็นอย่างไร สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาสู่วงการนี้ คุณสารี อ๋องสมหวัง ระบุว่า ต้องถามว่า อยากทำอะไร ในสายข่าวมีคนอยากทำก็เยอะ แต่สกิลทั้งหมด จะต้องเป็นมัลติสกิล ดีมานด์ความต้องการยังมี แต่ต้องมีสกิลที่เยอะขึ้น ให้สอดคล้องกับทีวีดิจิทัล


สำหรับวิธีการนำเสนอข่าวเมื่อเกิดเหตุกราดยิง คุณวัชร วัชรพล กล่าวว่า จากกรณีเหตุกราดยิงล่าสุด เมื่อเทียบกับเหตุกราดยิงโคราช เหตุการณ์ในขณะนั้นเป็นบทเรียนที่สำคัญอย่างมาก ต้องยอมรับว่าในตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่ของสื่อบ้านเรา ซึ่งเราได้กลับมาทำความเข้าใจกับกองบรรณาธิการตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับปฏิบัติการ



จนมาถึงเหตุกราดยิงล่าสุด ทางไทยรัฐมีการปรับรูปแบบการนำเสนอ มีการลดทอนหลายๆ สิ่ง ซึ่งเรายินดีที่จะลด และเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ที่อ่อนไหว เกี่ยวกับความรู้สึกกับความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ส่วนเรื่องความยาวในการนำเสนอข่าวนั้น คิดว่าเป็นเรื่องของการเล่าเรื่อง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นแต่เมื่อจบเรื่องนั้นแล้ว ก็จะเปลี่ยนเรื่อง ซึ่งความยาวของแต่ละเบรกจะขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ชม


ด้าน รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล กล่าวว่า การนำเสนอข่าวกราดยิง เราเห็นพัฒนาการในการทำคอนเทนต์มากขึ้นจากบทเรียนครั้งที่ผ่านมา สื่อมีการกำกับตัวเองมากขึ้น.








ข่าวแนะนำ